น้ำโขงสูงขั้นวิกฤติ! เตือนพื้นที่เสี่ยง4 อำเภอเฝ้าระวัง!

2018-08-22 15:25:04

น้ำโขงสูงขั้นวิกฤติ! เตือนพื้นที่เสี่ยง4 อำเภอเฝ้าระวัง!

Advertisement

น้ำโขงสูงขั้นวิกฤติ อ.บ้านแพง จ.นครพนม เร่งอพยพย้ายสิ่งของหนีน้ำโขงล้นตลิ่งท่วม เตือนพื้นที่เสี่ยง 4 อำเภอ เฝ้าระวังน้ำโขงเอ่อท่วม พื้นที่เกษตรอ่วม

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ อ.บ้านแพง จ.นครพนม นายสมบูรณ์ ชนะหาญ ปลัดอำเภอหัวหน้างานฝ่ายความมั่นคง อ.บ้านแพง ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานเกี่ยวข้อง นำเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง กำลัง อส. ลงพื้นที่ ตรวจสอบให้การช่วยเหลือ นำเรือท้องแบน ลงพื้นที่ช่วยเหลือ ขนย้ายสิ่งของ ชาวบ้าน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโขงเอ่อล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือน ร้านค้า ร้านอาหาร ของชาวบ้าน ในเขตพื้นที่ อ.บ้านแพง เนื่องจากในช่วง 2 -3 วันที่ผ่านมา ผลกระทบจากภาคเหนือมีฝนตกหนัก เกิดน้ำท่วม บวกกับอิทธิพลของ สปป.ลาว มีการระบายน้ำจากเขื่อนหลายแห่ง ทำให้น้ำโขงมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว วันละประมาณ 10-250 ซม. ล่าสุดมีระดับอยู่ที่ประมาณเกือบ 12 เมตร ทำให้บางจุดเกิดปัญหาน้ำโขงล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือน เพราะมีระดับน้ำสูงเกินเขื่อนป้องกันตลิ่ง โดยเฉพาะในพื้นที่ บ้านดอนแพง ต.บ้านแพง อ.บ้านแพง ได้รับผลกระทบหนักเป็นรอบที่ 2 หลังลดระดับได้ประมาณ 2 -3 วัน สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน มากกว่า 30 หลังคาเรือน ต้องช่วยกันขนย้ายสิ่งของออกจากบ้านเรือน ป้องกันความเสียหาย

ทั้งนี้พื้นที่ อ.บ้านแพง ถือเป็น 1 ใน 12 อำเภอ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำโขงหนุนเอ่อท่วม จากพื้นที่ประกาศประสบภัยพิบัติทั้งจังหวัดรวม 12 อำเภอ คาดว่ามีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายไม่ต่ำกว่า 2 แสนไร่ เบื้องต้นจากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า พื้นที่ อ.บ้านแพง ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำโขงเอ่อล้น เป็นพื้นที่รวม 6 ตำบล มี .ต.บ้านแพง 2.ต.ไผ่ล้อม 3. ต.นางัว 4.ต.หนองแวง 5.ต.โพนทอง 6.ต.นาเข ส่งผลกระทบรวม 49 หมู่บ้าน 600 ครัวเรือน และมีพื้นที่การเกษตร นาข้าวได้รับความเสียหายแล้วไม่ต่ำกว่า 3,000 ไร่




ขณะเดียวกันในส่วนของ จ.นครพนม โดย นายสมชาย วิทย์ดำรงค์ ผวจ.นครพนม ได้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องแจ้งเตือนให้ประชาชน ในพื้นที่เสี่ยง ติดแม่น้ำโขง รวม 4 อำเภอ มี อ.บ้านแพง อ.ท่าอุเทน อ.เมือง และ อ.ธาตุพนม รวมถึงพื้นที่อำเภอที่ติดลำน้ำสาขา เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังได้ประสานชลประทาน ประเมินสถานการณ์น้ำ เร่งระบายน้ำจากลำน้ำก่ำ ลำน้ำอูน และลำน้ำสงคราม ซึ่งเป็นแม่น้ำสาขาสายหลักที่ยังมีปัญหาเกินปริมาณความจุประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ให้สามารถระบายลงน้ำโขงได้เร็วที่สุด ลดปัญหาเอ่อท่วม เตรียมพร้อมรับมือหากมีฝนตกหนักในพื้นที่ และเตรียมพร้อมเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังคอยติดตามให้การช่วยเหลือต่อเนื่อง หากมีพื้นที่เกิดน้ำท่วมฉับพลัน