นายกฯหวังระบบขนส่งสาธารณะแก้ปัญหาจราจร กทม.

2018-08-17 21:40:22

นายกฯหวังระบบขนส่งสาธารณะแก้ปัญหาจราจร กทม.

Advertisement

นายกฯชี้ปัญหาจราจรใน กทม. เป็นปัญหาสะสม จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ไม่เป็นไปตามผังเมือง รถยนต์เพิ่มขึ้น 4% ต่อปี สร้างถนนยาก แพง ใช้เวลานาน ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการคือลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ระบบรางเป็นแกนหลัก ในการเดินทาง และขนส่ง

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาที่ยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ปัญหาจราจรติดขัดใน กทม. เป็นปัญหาที่สะสม ทั้งนี้เนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมือง ที่อาจจะไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ไม่เป็นไปตามผังเมือง มีการเดินทางเข้าสู่ศูนย์กลางเมือง เพื่อประกอบกิจกรรมต่างๆ มากมาย ทั้งทำงาน ส่งลูกหลาน ติดต่อธุรกิจ ท่องเที่ยว ของคนกว่า 15 ล้านคน ในพื้นที่ กทม. ที่จำกัด 1,500 กว่าตารางกิโลเมตร ถ้าคำนวณกันเป็นความหนาแน่น ก็จะมากกว่า 9,500 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร ถือว่า แออัดมาก และผิวการจราจรก็ไม่สามารถรองรับได้อย่างสมดุล



นายกฯ กล่าวต่อว่า ในปี 2560 มีจำนวนรถยนต์สะสมกว่า 6.6 ล้านคัน และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4% ต่อปี ถ้าเราจะมองให้เห็นภาพ ก็คือมีรถจดทะเบียนใหม่ทุกวันๆ ละ 700 คัน และรถจักรยานยนต์ 400 คัน ในขณะที่การสัญจรของรถ ต้องอาศัยถนนมีผิวการจราจร ที่สร้างเพิ่มขึ้นได้ยาก แพง แล้วก็นาน แล้วก็ติดที่ของเอกชนเกือบทั้งหมด ปัจจุบันนั้น กทม. มีถนนประมาณ 4,300 กิโลเมตร เป็นถนนสายหลัก เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น หากเทียบพื้นที่ถนนเป็นร้อยละแล้ว กทม.มีเพียง 6.8 % ในขณะที่มหานคร เมืองใหญ่ๆ ของโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มีพื้นที่ถนน 21 - 36 % แต่อย่าคิดว่ารถเขาไม่ติด ก็ติดคล้ายๆ เรา ทั้งๆ ที่เขามีพื้นที่ถนนมากกว่าเรา อาจจะถึง 2-3 เท่า




นายกฯ กล่าวอีกว่า ความต้องการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็มากขึ้น สะพานที่เรามีอยู่ในปัจจุบันก็มีจำนวนจำกัด เราก็มีการวางแผนจะสร้างใหม่เพิ่มขึ้น ก็สร้างไม่ได้ ก็ยังต้องฟังความคิดเห็นประชาชนอีก จากการศึกษาพบว่า ในปี 2564 เราจะมีความต้องการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 480,000 คนต่อวัน และในอีก 10 ปีข้างหน้า จะเพิ่มขึ้นเป็น 840,000 คนต่อวัน ปัญหาสำคัญที่ต้องคำนึงถึง คือ การเชื่อมโยงทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เชื่อมต่อแนวตะวันตก – ตะวันออก

”สำหรับแนวทางแก้ปัญหานั้น ผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการก็คือ ส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล แล้วหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ระบบราง เป็นแกนหลัก ในการเดินทาง และขนส่ง สำหรับพื้นที่ กทม. และปริมณฑล นั้น ภายในปี 2575 อีก 15 ปี จะต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบ ทั้ง 10 สาย ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร ทั้งนี้ได้สั่งการให้เพิ่มเส้นทางคมนาคมทางน้ำในการเดินทาง คู่ขนานไปกับถนนสายหลัก เพื่อให้ประชาชนเลือกใช้บริการได้สะดวกขึ้น บรรเทาจราจรติดขัดทางถนน ซึ่งทั้งกรมเจ้าท่า กทม. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ต้องร่วมกันดำเนินการอย่างเร่งด่วน”นายกฯ กล่าว

นายกฯ กล่าวด้วยว่า หากภาคเอกชน เห็นว่าพื้นที่ใด ควรสร้างเป็นพื้นที่จอดรถ เช่น พื้นที่ใกล้กับสถานที่ที่สำคัญ ก็สามารถเสนอมายังรัฐบาล เพื่อจะอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนได้มากขึ้น และ ช่วยบรรเทาการจราจรติดขัดบนท้องถนนได้อีกทางหนึ่ง คือมีการลงทุนเรื่องที่จอดรถ ที่จอดรถใต้ดินให้มากยิ่งขึ้น การที่จะสร้างศูนย์การค้าใหม่ ก็ต้องคำนึงถึงที่จอดรถด้วย อันนี้ก็คงต้องกำหนดไปให้ชัดเจนขึ้น