รองโฆษกกรมสรรพสามิตชี้เหล้าเกิน 0.5 ดีกรี ต้องเสียภาษี ระบุมีไว้เพื่อขายปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท ครอบครองปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท แจงกรณีจับปรับคุณยายที่บุรีรัมย์ใช้หลักนิติศาสตร์-รัฐศาสตร์พิจารณา
เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายณัฐกร อุเทนสุต รองโฆษกกรมสรรพสามิต ให้สัมภาษณ์ “นิว18” กรณีสรรพสามิตบุรีรัมย์จับกุมแม่ค้าขายข้าวหมาก ที่แอบขายสาโท ว่า ยืนยันว่าไม่ได้จับกุมข้าวหมาก คือ คุณยายขายข้าวหมากและขายสุราด้วย ขอเรียนว่าการทำสุราแช่ คือการนำข้าวเหนียว ข้าวจ้าว หรือกากน้ำตาลมาหมักกับยีสต์ ระยะเวลาในการหมักแตกต่างกันก็ได้สุราแตกต่างกัน เช่น ข้าวหมากใช้เวลาหมักประมาณ 3-5 วัน มีปริมาณแอลกอฮอล์อยู่ที่ประมาณ 5 ดีกรี แต่ถ้าหมักนานเพิ่มขึ้น ทิ้งไว้นานขึ้น จะได้สาโท ดีกีจะอยู่ประมาณ 10 ดีกรี
“ผมไม่ได้เรียกว่าเป็นเหล้าประเภทไหน แต่บอกว่ากฎหมายกำหนดว่า ถ้ามีการผลิตสุราต้องเสียภาษี ทั้งนี้กฎหมายกำหนดว่าใน พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ถ้ามีดีกรีเกิน 0.5 ต้องเสียภาษีสรรพสามิต ข้าวหมาก น้ำข้าวหมาก หรือสุราประเภทอื่นยังไงก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิต”นายณัฐกร กล่าว
นายณัฐกร กล่าวว่า สำหรับลูกแป้งข้าวหมากคือยีสต์ สามารถนำไปทำอะไรก็ได้ เราก็ยอมรับในการปรับปรุงกฎหมายใหม่ ว่า ยีสต์ไม่ใช่ตัวสินค้าที่ต้องเสียภาษี ยีสต์คือวัตถุดิบในการผลิตสุรา ในการหมัก
นายณัฐกร กล่าวด้วยว่า พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 มีอยู่ 2 มาตรา คือ มาตรา 191 กรณีมีไว้เพื่อขายปรับไม่เกิน 5 หมื่นบาท แต่มาตรา 192 มีไว้ครอบครองปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท จริง ๆบางท่านบอกว่าเราต้องดูตามเนื้อกฎหมาย กรณีคุณยายเราควรจะปรับ 5 หมื่นบาท แต่เรามองเจตนาของคุณยายวันนั้นอาจจะยังไม่ขายโทษครอบครองอาจจะเหมาะสมกว่าจึงปรับ 1 หมื่นบาท อีกทั้งคุณยายไม่มีเงิน ก็ใช้หลักนิติศาสตร์ และหลักรัฐศาสตร์ในการพิจารณา ซึ่งสาโทของคุณยายเติมน้ำแล้วปริมาณแอลกอฮอล์จะอยู่ที่ประมาณ 3-5 ดีกรี
“ขอเรียนว่าข้าวหมากขายได้ตามปกติ แต่ถ้าจะเอาสุรามาขายควรจดทะเบียนเสียภาษีสรรพสามิต เราจะได้ตรวจสอบคุณภาพ เพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค ควรไปจดทะเบียนสรรพสามิตพื้นที่ที่อยู่ ใช้เวลาไม่เกิน 10 นาที จากนั้นเราจะไปตรวจสถานที่ว่าถูกสุขลักษณะหรือไม่ โดยสุราที่ผลิตออกมาเราจะนำมาตรวจในห้องแล็บว่ามีสารปนเปื้อนหรือไม่ ถ้าเรียบร้อยก็ขายได้เลย ใช้เวลาไม่นาน อยากบอกว่าการทำสุราเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน เป็นสุราแช่ ทั้งอุ กระแช่ สาโท สุราพวกนี้ต้องเสียภาษีสรรพสามิต เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ตรวจสอบให้เป็นไปตามสุขลักษณะ และเงินที่เสียภาษีจะเข้ารัฐเพื่อเป็นรายได้พัฒนาประเทศต่อไป” นายณัฐกร กล่าว
เมื่อถามว่าคนซื้อมีความผิดหรือไม่ นายณัฐกร กล่าวว่า ก็ถือว่าซื้อสินค้าผิดกฎหมายปรับไม่เกิน 1หมื่นบาท เพราะถือว่าครอบครอง แต่ถ้าทำเองในบ้านมีไว้ในบ้าน 2-3 ลิตรไว้บริโภคเองอันนั้นเราก็ยังพออนุโลมให้เพราะไม่ได้มีเจตนาเอาไปขาย แต่ถ้าครอบครองเกิน 10 ลิตรอันนี้มีเจตนาขาย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
คดีพลิก! สรรพสามิตแจง ยายขายข้าวหมาก แอบซุก “สาโท”