ตัดใจโค่นทิ้ง! “ยางพารา” ชาวสวนจันท์หันปลูกทุเรียน 20,000 ไร่

2018-08-15 18:00:56

ตัดใจโค่นทิ้ง! “ยางพารา”   ชาวสวนจันท์หันปลูกทุเรียน 20,000 ไร่

Advertisement

วิกฤติราคายางดิ่งเหวไม่กระเตื้อง ชาวสวนจันทบุรี ตัดใจโค่นต้นทิ้ง หันยกแปลงปลูกทุเรียนทดแทน หลังฤดูกาลนี้ราคาพุ่ง ตลาดต่างประเทศแห่รับซื้อ ขณะเกษตรจังหวัด แนะเกษตรกรปรับตัวรับมือในอีก 5 ปี ข้างหน้า

เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากภาวะราคายางพาราตกต่ำ เข้าสู่ภาวะวิกฤติดิ่งเหว และยังไม่มีทีท่ากระเตื้องขึ้น ซึ่งต่างกับ ราคาผลผลิตผลไม้ โดยเฉพาะทุเรียน ที่สวนกระแสในแนวทางกลับกันที่มีราคาพุ่งสูงขึ้นหลายเท่าตัว จากการที่ตลาดในต่างประเทศ มีความต้องการทุเรียนสูง โดยเฉพาะกระแส การลงนามซื้อขายทุเรียนกับกลุ่มอาลีบาบา จึงเกิดการแข่งขันในเรื่องเพดานราคาที่ลอยตัวสูงขึ้น ระหว่างผู้ประกอบการส่งออก ทำให้ชาวสวนผลไม้มีรายได้จากผลผลิตทุเรียนในปีนี้เป็นกอบเป็นกำ และทำให้ในปี 2561 นี้ เกษตรกรใน จ.จันทบุรี ยอมโค่นต้นยางพาราทิ้ง และหันมายกแปลงปลูกทุเรียนทดแทน โดยมียอดประมาณเนื้อที่แปลงปลูกทุเรียนฤดูกาลนี้เพิ่มมากถึงกว่า 20,000 ไร่

โดยในวันนี้ ผู้สื่อข่าว ได้เดินทางไปพูดคุยกับ นายรัศมี สิงขรณ์ อายุ 62 ปี อยู่บ้านเลขที่ 48/1 ม.3 ต.อ่างคีรี อ.มะขาม จ.จันทบุรี หนึ่งในเกษตรกร ที่มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นที่เกษตรกรรม ทำการโค่นต้นยางพาราทิ้งและหันมายกแปลงปลูกทุเรียนทดแทน โดยนายรัศมี บอกว่า จากภาวะที่ราคายางพาราตกต่ำมาตั้งแต่ปี 2554 จนถึงวันนี้ ปี 2561 ราคายางดิ่งลงต่ำสุด เหลือเพียงกิโลกรัมละไม่ถึง 20 บาท ซึ่งหักลบกับต้นทุน บวกกับค่าใช้จ่าย เฉลี่ยแล้วแทบจะไม่เห็นรายรับ หรือเท่ากับเสมอตัว ต่างกับการทำสวนผลไม้ ที่ในฤดูการผลิตในปีนี้ มีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะรายได้จากการขายทุเรียน ในเนื้อที่ 20ไร่ มีรายได้กว่า 700,000- 800,000 บาท แตกต่างจากเนื้อที่ปลูกยางพารา เนื้อที่กว่า 40ไร่ มีรายได้เฉลี่ยตก 200,000 บาท ต่อปี




โดยเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา จากภาวะราคายางตกต่ำ ได้ทำการโค่นยางพารา และยกแปลงปลูกทุเรียนไปแล้วประมาณ 10ไร่ และในปลายปีนี้ มีโครงการจะโค่นต้นยางพาราทิ้ง และยกแปลงปลูกทุเรียนเพิ่มอีก 20 ไร่ เพื่อเป็นการปรับสมดุล ควบคุมรายรับ รายจ่ายในครอบครัวให้อยู่รอด โดยยอมรับว่า ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ราคาทุเรียน จะประสบปัญหาผลผลิตล้นตลาด และราคาตกต่ำหรือไม่ ยังไม่รู้ เนื่องจากเพื่อนชาวสวน รายอื่นๆ ก็มีการปรับโครงการพื้นที่เกษตรกรรม โค่นยางพาราหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มเช่นกัน ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับตัวชาวสวน คงต้องมีการปรับตัวมองหาลู่ทาง ผลิตทุเรียนพรีเมี่ยมคุณภาพ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดปลายทาง ตลอดจนการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่ ในการสร้างอำนาจต่อรอง และกำหนดราคา

ขณะที่ นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจังหวัดจันทบุรี เปิดเผยว่า จากกระแสทุเรียนในปี 2561 มีราคาจำหน่ายที่สูงเพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะมีผลผลิตส่งออกมากถึง 279,000 ตัน เทียบเท่ากับผลผลิตทุเรียนในทุกจังหวัดของภาคใต้ ทำให้เกิดกระแสชาวสวนหันมา ปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งประกอบกับแนวนโยบายของรัฐบาล ที่แนะนำให้เกษตรกร ลดพื้นที่ปลูกยางพาราหันมาปลูกทุเรียนทดแทน เพื่อสร้างสมดุล



จากข้อมูลการปรับโครงสร้างพื้นที่เกษตรกรรมในพื้นที่ จ.จันทบุรี ที่มีการปลูกทุเรียนทดแทนแบ่งออกเป็น 2ส่วนหลัก โดยส่วนแรกเป็นการเปลี่ยนจากสวนยางพารา มาเป็นการปลูกทุเรียนทดแทนคิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 13,000 ไร่ ส่วนที่ 2 เป็นการปรับเปลี่ยนจากสวนผสม มีการนำไม้ผลที่มีราคาน้อยออก และปลูกทุเรียน ขึ้นมาทดแทน ซึ่งมีตัวเลขโดยรวมพื้นที่ปลูกทุเรียนในปี 2561 นี้ อยู่ที่ประมาณ 20,000 ไร่

นายปิยะ สมัครพงศ์ เกษตรจ.จันทบุรี กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ซึ่งจากการที่เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียน เพิ่มขึ้นนี้ อาจจะทำให้ในปี 4-5 ปี ความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะผลผลิตล้นตลาดและราคาตกต่ำ มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากการเจริญเติบโตของตลาดรองรับ โดยเฉพาะคู่ค้าต่างปะเทศและตลาดออนไลน์ นอกจากนี้ยังมีตลาดแปรรูป เข้ามารอบรับ ทำให้เกษตรกร สามารถมีทางเลือกในการขายผลผลิต

อย่างไรก็ตาม ทางเกษตรจังหวัด ได้มีข้อแนะนำให้เกษตรกร ได้ทำการศึกษาแผนการตลาดเพื่อปรับตัวรองรับ เริ่มจากขั้นตอนการปรับเปลี่ยนระบบการผลิต ให้มีคุณภาพ ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการ จากผลผลิต 100 เปอร์เซ็นต์ ควรมีการจัดวางระบบออกเป็น 3 ส่วน คือการผลิตเพื่อการส่งออก , ผลิตเพื่อการแปรรูปและผลิตสินค้าพรีเมี่ยม เพื่อส่งขายในตลอดออนไลน์ ที่มีแนวโน้มขยายกำลังซื้อเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้เกษตรกร ควรมีการรวมกลุ่มเป็นเกษตรแปลงใหญ่เพื่อสร้างระบบบริหารจัดการ ในเรื่องของการผลิต,การแปรรูปและการตลาด สร้างอำนาจต่อรอง และกำหนดราคา กับคู่ค้าได้ในอนาคต