กรมชลฯ ย้ำระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังต่ำกว่าตลิ่งและยังรับน้ำได้อีกมาก ยืนยัน น้ำเหนือยังไม่กระทบต่อกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน ได้เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่ผ่านมานั้น เกิดจากฝนตกหนักในพื้นที่ ทำให้มีน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ซึ่งไม่ได้เกิดจากปริมาณน้ำที่ไหลผ่านแม่น้ำสายหลัก
โดยสถานการณ์น้ำในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านสถานี อ.เมืองนครสวรรค์ 1,061 ล้านลูกบาศก์เมตร ระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่ง 5.58 เมตร ซึ่งกรมชลประทานได้ควบคุมปริมาณน้ำมห้ไหลผ่านเขื่ออนเจ้าพระยาในเกณฑ์ 677 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงยังไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ด้านท้ายเขื่อน ส่วนแม่น้ำสายหลักอื่นๆ เช่น แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่ง
ส่วนสถานการณ์น้ำทะเลหนุนสูงระยะนี้ ยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ และปริมาณน้ำเหนือยังอยู่ในเกณฑ์น้อย ซึ่งจากการติดตามของกรมชลประทานพบว่า สถานการณ์ในช่วงเช้าวันนี้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เพียง 853 ลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านกรุงเทพมหานครและปริมณฑลสามารถรองรับได้สูงสุด 3,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งกรมชลประทาน นั้นได้มีการประสานรายงานสถานการณ์น้ำให้แก่สำนักการระบายน้ำกรุงเทพมหานครทราบอย่างต่อเนื่องแล้ว จึงยืนยันได้ว่าน้ำจะไม่ท่วมกรุงเทพมหานครแน่นอน
ขณะที่สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยารวมไปถึงแม่น้ำสายหลักอื่นๆ ระดับน้ำยังต่ำกว่าตลิ่งและสามารถรองรับปริมาณน้ำได้อีกมาก ซึ่งทางกรมชลประทาน ได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำในทุกพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ เช่น การสำรวจและติดตั้งเครื่องสูบน้ำในจุดเสี่ยง และได้เร่งระบายน้ำในพื้นที่น้ำท่วมขังให้เข้าสู่ภาวะปกติแล้วหลายพื้นที่ รวมไปถึงการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำในแต่ละพื้นที่อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังได้บูรณาการการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และรายงานสถานการณ์น้ำให้ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การช่วยเหลือประชาชนสามารถทำได้อย่างทันท่วงทีและเกิดประสิทธิภาพมากที่สุด
ทั้งนี้ในด้านสถานการณ์น้ำทั่วไปในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 15 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบนั้น ขณะนี้เจ้าสู่ภาวะปกติแล้ว 14 จังหวัด คงเหลือเพียงในพื้นที่ อ.คีรีมาศ จ.สุโขทัย เท่านั้น ที่ยังมีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร โดยทางกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งหาแนวทางในการระบายน้ำในจุดที่เน่าเสียลงสู่แม่น้ำยมแล้ว ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้ระยะเวลา 2-3 วันจึงจะเข้าสู่ภาวะปกติ