กู้ภัยไทยสุดยอดช่วยชาวลาว 15 คนรอดตายเขื่อนแตก

2018-07-28 11:00:17

กู้ภัยไทยสุดยอดช่วยชาวลาว 15 คนรอดตายเขื่อนแตก

Advertisement

ช่วงนาทีที่หน่วยกู้ภัยของไทย เข้าช่วยเด็กเล็ก ที่อยู่ในอาการตื่นตระหนกและหิวโหย พร้อมคนอื่น ๆ อีก 14 คน ออกมาได้อย่างปลอดภัย หลังพบยังมีชีวิตอยู่ หลังเขื่อนพังถล่ม




เด็กชายตัวน้อยถูกพบพร้อมกับคนอื่น ๆ อีก 14 คน ที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม หลังจากพวกเขาหลบหนีขึ้นไปบนเนินเขาสูงเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา หลังเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ เซเปียน เซน้ำน้อย แตก จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้มวลน้ำมหาศาลไหลออกจากเขื่อนทะลักเข้าท่วมหลายหมู่บ้านอย่างฉับพลัน ได้รับความเสียหายอย่างหนัก






ภาพที่เผยแพร่เมื่อวานนี้ แสดงให้เห็นว่า เด็กน้อยวัย 4 เดือน ได้รับความช่วยเหลือจากกู้ภัยไทย อุ้มออกมาอย่างระมัดระวัง ฝ่าพื้นที่น้ำท่วมและโคลนตมระดับเอว ขณะที่หน่วยกู้ภัยจากหลายประเทศ เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ โดยเจ้าหน้าที่กู้ภัยไทย ซึ่งเดินลุยน้ำหลายกิโลเมตร ผ่านต้นไม้ที่หักโค่นและเศษซากขยะต่าง ๆ ที่ลอยตามน้ำ เพื่อไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยกลุ่มนี้ เริ่มปฏิบัติภารกิจใหม่อีกครั้ง หลังผ่านภารกิจสุดอันตราย ในความพยายามช่วย 13 ชีวิตนักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี ออกจากถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ได้อย่างปลอดภัยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา






ได้พักไม่กี่วัน เจ้าหน้าที่กู้ภัยของไทยชุดร่วมภารกิจที่ถ้ำหลวง ก็ต้องมาปฏิบัติภารกิจช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขาดแคลนอุปกรณ์ในการจัดการกับภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขนาดนี้

“เด็กชายคนนี้เพิ่งอายุ 4 ขวบเองครับ น้องไม่มีไข้ แต่ก็ร้อง ซึ่งบางทีอาจเป็นเพราะอากาศเย็น” หนึ่งในทีมกู้ภัย ซึ่งไปจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย กล่าวกับเอเอฟพี “เด็กร้องและดูยังตื่นกลัว จริง ๆ แล้วพวกเขาทั้งหมดก็ยังคงกลัวกระแสน้ำอยู่”



สำหรับคลิปวิดีโอการช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้ มีผู้เข้าไปดูเกือบ 5 แสน ในช่วงไม่กี่ชั่วโมง หลังถูกโพสต์ในออนไลน์เมื่อวานนี้

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ทางการสปป.ลาว แถลงว่า จนถึงขณะนี้ พบผู้เสียชีวิตแล้ว 27 ศพ ขณะที่นายกรัฐมนตรีของสปป.ลาว นายทองลุน สีสุลิด ระบุว่า มีผู้สูญหาย 131 ราย แต่เมื่อวานนี้ นายเลิธ ไซยะพน ผู้ว่าการแขวงอัตตะปือ ปรับลดตัวเลขผู้เสียชีวิตลงมาเหลือ 5 ศพ โดยบอกว่า จำนวนเหยื่อผู้เสียชีวิตก่อนหน้านี้ ยังไม่ได้มีข้อมูลยืนยัน ทั้งนี้ ทางการสปป.ลาว ไม่เคยให้นานาชาติเข้ามาตรวจสอบ และยังขัดขวางสื่อต่างชาติด้วย ทำให้ความพยายามที่จะได้รับทราบตัวเลขผู้เสียชีวิตที่แท้จริงนั้น ยากลำบาก






อย่างไรก็ตาม ภัยพิบัติเขื่อนแตกครั้งนี้ ยังได้เพิ่มคำถามซีเรียส กรณีการวางเดิมพันของลาวในการสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำ เพื่อขจัดความยากจนในประเทศ