โฆษกศาลยุติธรรมชี้พ่อใจสลายโดดตึกไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ระบุคดีนี้เป็นเพียงคำตัดสินของศาลชั้นต้น ยังมีสิทธิ์ในยื่นอุทธรณ์คดีได้อีก
เมื่อวันที่ 24 ก.ค. นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวถึงกรณีนายศุภชัย ทัฬหสุนทร อายุ 52 ปี กระโดดตึกศาลอาญาเมื่อวันที่ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา หลังฟังคำพิพากษาว่าศาลยกฟ้องนายณัฐพงศ์ เงินคีรี อายุ 19 ปี จำเลยในคดีที่นายธนิต ทัฬหสุนทร อายุ 23 ปี ลูกชายถูกแทงเสียชีวิตช่วงสงกรานต์ ปี 2559 ว่า เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจกับทุกคน และเรื่องดังกล่าวไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น ซึ่งหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศาล รวมถึงจิตแพทย์ ได้เข้าดูแล พูดคุยกับภรรยา และญาติผู้เสียชีวิตให้สงบลง ส่วนสาเหตุของการตัดสินใจ คาดว่าครอบครัวอาจฝังใจกับเหตุการณ์ของลูกชาย และอาจมีความเครียดสะสมมาก่อน
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการป้องกันการดูแลพื้นที่ศาล เรื่องนี้ศาลมีการพูดคุยกันมาตลอด ซึ่งตอนนี้มี พ.ร.บ.ตำรวจศาล อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของ สนช. เชื่อว่า หาก พ.ร.บ.ตำรวจศาลผ่านการพิจารณาจะสามารถมาเสริมกำลังการทำงานของเจ้าหน้าศาล และดูแลเหตุการณ์ภายในศาลให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ยังมีการพูดคุยเรื่องมาตรการการดูแลเรื่องสภาพจิต อาจมีเจ้าหน้าที่นักจิตวิทยาที่จะมาคอยดูแลสภาพจิตใจของผู้ที่เข้ามาติดต่อภายในศาล
นายสุริยัณห์ กล่าวต่อว่า ในส่วนคดีของลูกชายผู้เสียชีวิตนั้น แม้คดีจะมีการให้การของพยานที่ระบุว่าเห็นเหตุการณ์ในชั้นพนักงานสอบสวน แต่รายละเอียดอาจไม่เพียงพอ และไม่มีคู่ความเข้าตรวจสอบ ซึ่งในชั้นศาลต้องนำตัวพยานดังกล่าวมาในชั้นศาลด้วย แต่กลับไม่สามารถเบิกตัวพยานขึ้นให้การได้ เนื่องจากมีอาการป่วยทางจิต รักษาอาการป่วยที่โรงพยาบาล ส่วนพยานวัตถุอื่น ภาพกล้องวงจรปิดจับภาพได้แค่ต้นซอย ไม่เห็นเหตุการณ์ขณะเกิดเหตุได้ และวัตถุพยานอื่นไม่มี ศาลเลยเห็นว่ายังฟังไม่ได้ จึงพิจารณายกฟ้องดังกล่าว อย่างไรก็ตาม คดีนี้เป็นเพียงคำตัดสินของศาลชั้นต้น ยังมีสิทธิ์ในการยื่นอุทธรณ์คดีได้อีก
นายสุริยัณห์ กล่าวด้วยว่า สำหรับคดีนี้ตำรวจจับกุมได้ 2 คน อีก 1 คนเป็นเยาวชน อยู่ในชั้นปฏิบัติของศาลเด็กเยาวชนและครอบครัว ซึ่งจำเลยมีการรับสารภาพว่าก่อเหตุจริง แต่ในส่วนของนายณัฐพงศ์ เงินคีรี ที่มีการฟ้องร้องที่ศาลอาญา จำเลยได้ให้การปฎิเสธ ส่วนที่ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) มีการสั่งการให้ตำรวจ สน.ดินแดงตรวจสอบสำนวนคดี และตรวจสอบพยานหลักฐานในคดี ซึ่งหากพบหรือมีพยานหลักฐานอื่นเพิ่มเติมและศาลรับฟังสามารถนำมาให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมได้