บีบีซีเผยแพร่จิตรกรรมถ้ำหลวง ศิลปะที่โลกต้องจดจำ

2018-07-21 07:20:13

บีบีซีเผยแพร่จิตรกรรมถ้ำหลวง ศิลปะที่โลกต้องจดจำ

Advertisement


เว็บไซต์บีบีซี สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ตีแผ่จิตรกรรมฝาผนังขนาดยักษ์ ชื่อว่า “The Heroes” ที่ถูกรังสรรค์ขึ้นโดยกลุ่มศิลปินในจังหวัดเชียงราย ภาคเหนือของไทย เพื่อเป็นเกียรติและรำลึกถึงภารกิจที่โลกต้องจดจำ ในการช่วยเหลือ 13 ชีวิตทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมี ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย นานกว่า 2 สัปดาห์




โดยภาพจิตรกรรมฝาผนังที่สวยงามและบอกเล่าเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในถ้ำหลวงนี้ จัดแสดงอยู่ที่ “ขัวศิลปะ” (Art Bridge) ซึ่งเป็นห้องแสดงศิลปะเอกชนใน จ.เชียงราย ถือเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงให้เห็นความสำเร็จในภารกิจกู้ภัยที่ยากลำบาก เสี่ยงอันตรายอย่างยิ่ง







งานศิลปะชิ้นนี้ถูกวาดขึ้นโดยกลุ่มศิลปินท้องถิ่นในเชียงราย ภาพที่เห็นโดดเด่นชัดเจน เป็นภาพใหญ่สุด คือนาวาตรี สมาน กุนัน อดีตนักดำน้ำหน่วยซีล แห่งราชนาวีของไทย ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติภารกิจช่วย 13 ชีวิตทีมหมูป่า จนได้รับการยกย่องว่า เป็นฮีโร่ตัวจริง





นอกจากนี้ ยังมีรูปปั้นของ “จ่าแซม” สมาน กุนัน พร้อมเด็กหมูป่า 12 คน และโค้ช โดยใช้หมูป่าตัวผู้และลูกหมูป่า เป็นสัญลักษณ์ รอบฐานที่จ่าแซมยืน


เด็กนักฟุตบอลทีมหมูป่า 12 คน อายุระหว่าง 11-16 ปี และโค้ช อายุ 25 ปี เข้าไปติดอยู่ในถ้ำหลวงเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน และถูกพบโดยนักดำน้ำชาวอังกฤษ ลึกจากปากถ้ำ เข้าไปจุดที่พบประมาณ 4 กิโลเมตร เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ส่วนการช่วยเหลือทุกคนสำเร็จเสร็จสิ้นอย่างปลอดภัยในวันสุดท้าย 10 กรกฎาคม




ภาพจิตรกรรมชุดนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือชีวิตหมูป่าออกจากถ้ำหลวงได้อย่างปลอดภัยรวมอยู่ด้วย ซึ่งรวมทั้ง "ริค สแตนตัน" นักดำน้ำชาวเมืองผู้ดีอังกฤษ โดย "สแตนตัน และจอห์น โวลันเธน" เพื่อนนักดำน้ำจากอังกฤษ เป็นคนแรกที่พบน้อง ๆ ทีมหมูป่า หลังติดอยู่ในถ้ำนาน 9 วัน สแตนตัน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ภารกิจกู้ชีวิตหมูป่าที่ถ้ำหลวง ไม่เคยเกิดขึ้นที่ไหนมาก่อน และจะไม่มีที่ไหนเป็นแบบนี้แน่นอนไม่ต้องสงสัย






เมื่อเดินทางกลับอังกฤษแล้ว นายโวลันเธน กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “พวกเรารู้สึกโล่งอกที่ช่วยทีมหมูป่าออกมาได้อย่างปลอดภัย แต่เขาคิดว่า ตอนนั้นเราตระหนักถึงสถานการณ์ที่เลวร้ายอย่างมาก และนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมต้องใช้เวลาสักระยะหนึ่งในการทำให้พวกเขาทั้งหมดออกไป"



"นายเวิร์น อันสเวิร์ธ" นักสำรวจและนักดำน้ำในถ้ำชาวอังกฤษ เป็นอีกคนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในภารกิจใหญ่หลวงนี้ มันเป็นความโชคดีของความพยายามในการช่วยเหลือครั้งนี้ เพราะนายอันสเวิร์ธ เคยเข้าไปสำรวจถ้ำหลวงที่ซับซ้อนแห่งนี้มาแล้ว จนรู้เส้นทางและพื้นที่ต่าง ๆ ภายในถ้ำ และเขาก็ใช้ชีวิตอยู่ในเชียงรายนานหลายปี



นักดำน้ำอังกฤษอีกคนที่ถูกวาดอยู่ในจิตรกรรมชุดนี้ คือ"โรเบิร์ต ชาร์ลส์ ฮาร์เปอร์" ซึ่งเป็นนักสำรวจและดำน้ำในถ้ำมาตั้งแต่ปี 2511 ถือว่ามีประสบการณ์โชกโชน ที่มาช่วยในภารกิจนี้





อีกคน ที่จะขาดไม่ได้ "นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร" ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายในขณะนั้น แต่ขณะนี้ ย้ายไปเป็นผู้ว่าฯ พะเยา เป็นหัวเรือใหญ่ในภารกิจโหดหินครั้งนี้ ภารกิจที่แทบจะเป็นไปไม่ได้ ก็มีภาพสวมหมวกสุดเท่ห์อยู่ด้วย เมื่อกล่าวถึงอนาคตของถ้ำหลวง นายณรงค์ศักดิ์ บอกว่า พื้นที่แห่งนี้จะกลายเป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เพื่อแสดงเรื่องราวให้ผู้คนได้รับรู้ถึงความยากลำบากในภารกิจครั้งนี้ และจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของไทย



ขอบคุณ ข้อมูลเนื้อหาและภาพจากบีบีซี