วสท. จัดเสวนาถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรม ช่วย 13 หมูป่า พบมีการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยทั้งในและนอกประเทศมาใช้ แนะนักธรณีวิทยาสำรวจถ้ำอื่นเป็นฐานข้อมูลความปลอดภัยต่อประชาชน
เมื่อวันที่ 19 ก.ค. วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) โดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยฯ จัดเสวนาถอดบทเรียนปฏิบัติการทางวิศวกรรมช่วย 13 ชีวิต หมูป่า กู้ภัยระดับโลก โดยมีหลายหน่วยงาน ทั้งตัวแทนของกรมทรัพยากรธรณี กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และอาจารย์จากสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่ง เข้าร่วม
ดร.ธเนศ กล่าวว่า การเสวนาครั้งนี้ เพื่อเชิดชูเกียรติผู้มีส่วนร่วมและหน่วยงานที่ให้ความร่วมมือกว่า 400 แห่ง ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิศวกรรม วิชาการที่นำไปใช้กู้ภัยในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่มีประโยชน์ ต่องานวิศวกรรมไทย ทั้งการ ขุดเจาะทางน้ำ หาโพรงตามแนวถ้ำ ช่วยเหลือน้องๆ 13 คน พร้อมกับนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย ของไทยและต่างประเทศ อาทิ โดรนติดกล้องตรวจจับความร้อน ไม้วัดกระแสไฟฟ้ารั่ว เครื่องวัดค่าความต้านทานไฟฟ้า เครื่องอินฟาเรดสแกนเนอร์ เรือดำน้ำจิ๋ว และเทคโนโลยีอื่นๆ รวมถึงการใช้ระบบโทรคมนาคมแบบผสมผสาน มาเป็นตัวสนับสนุน ทั้งนี้ทางวิศวกรรมสถาน ฯ เห็นว่าจะดำเนินการรวบรวมรายชื่อทำเนียบผู้เชี่ยวชาญต่างๆ รวมถึงเทคโนโลยี เพื่อให้ดำเนินการสำรวจและทำแผนที่ถ้ำให้เสร็จสมบูรณ์ ด้วยเครื่อง 3D scan การจับพิกัดของสถานที่จากเครื่อง ไจโรสโคป เครื่องจีพีเอส ที่สามารถบอกตำแหน่งต่างๆ ภายในถ้ำหลวง ซึ่งนักธรณีวิทยา ควรสำรวจถ้ำอื่นๆ ที่ทางการเปิดเป็นแหล่งท่องเที่ยว เพื่อเป็นฐานข้อมูลและความปลอดภัยต่อประชาชน รวมทั้งการเป็นต้นแบบการกู้ภัยประเภทต่างๆ ไว้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
หมอแนะคนใกล้ชิดสังเกตทีมหมูป่าช่วงพักฟื้น