ปธ.เครือข่ายครูแจงคลิปครูเบี้ยวหนี้ ชี้กู้ไม่เป็นตามเป้า

2018-07-17 13:40:11

ปธ.เครือข่ายครูแจงคลิปครูเบี้ยวหนี้ ชี้กู้ไม่เป็นตามเป้า

Advertisement

“อวยชัย” ประธานเครือข่ายครู แจงคลิปพักชำระหนี้ครู เหตุแผนกู้เงินสถาบันการเงินช่วยเพื่อนครูไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อีกทั้งยังแบกภาระดอกเบี้ยหนักอึ้ง



จากกรณี ครูในพื้นที่จังหวัดมหาสารคามได้รวมตัวกัน ทำปฏิญญามหาสารคาม เรียกร้องให้รัฐบาลและธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการการฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ช.พ.ค.

โดยแกนนำครูได้ประกาศบนเวที และให้สมาชิกที่อยู่ในห้องประชุมพูดตามว่า "วันที่ 14 ก.ค. 2561 ข้าพเจ้าขอให้รัฐบาล และธนาคารออมสิน พักหนี้โครงการ ช.พ.ค.ทุกโคงการตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2561 เป็นต้นไป ลูกหนี้ ช.พ.ค จำนวน 450,000 คน จะดำเนินการยุติการชำระหนี้กับธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 2561 เป็นต้นไป"




เหตุการณ์นี้มีผู้บันทึกวิดีโอไว้ และนำไปเผยแพร่ต่อในโลกโซเชียล หลังจากนั้น มีชาวเน็ตจำนวนมากมาแสดงความไม่พอใจ หลายคนมองว่า การกระทำเช่นนี้เท่ากับการเบี้ยวหนี้ ขณะที่หลายคนมองว่า ถ้าหากครูไม่จ่ายหนี้ ก็เท่ากับว่าขาดจริยธรรม จึงไม่ควรไปสอนคนอื่นๆ โดยเฉพาะนักเรียน





ล่าสุดนายอวยชัย วะทา ประธานเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย ชี้แจ้งว่า คลิปที่เผยแพร่ออกไปเป็นการประชุมผู้นำเครือข่ายองค์กรวิชาชีพครูแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา

สำหรับโครงการ ช.พ.ค.มีมีวัตถุประสงค์ คือ 1. ใช้หนี้สถาบันการเงินและหนี้นอกระบบ 2. เพื่อซื้อบ้านหรือสร้างที่อยู่อาศัย 3. เพื่อซื้อรถยนต์หรือยานพาหนะ 4. เพื่อซื้อหุ้นหรือลงทุนทำธุรกิจ 5. เพื่อใช้จ่ายในการศึกษาหรือธุรกรรมที่จำเป็นอื่นๆ





มีข้าราชการครู คณาจารย์และบุคลากรสังกัดกระทรวงศึกษาธิการเข้าร่วมโครงการประมาณ 450,000 คน วงเงินกว่า 4 แสนล้านบาท แต่โครงการดังกล่าวกลับไม่ได้เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้เพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษาเดือดร้อนแบกรับภาระหนี้สินเป็นจำนวนมาก

โดยการคิดดอกเบี้ยของธนาคารออมสิน สถาบันการเงินที่ปล่อยกู้ให้ครู คิดอัตราดอกเบี้ยในอัตราสูงเหมือนธนาคารพาณิชย์ และปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ หักเงินจากผู้กู้แต่ละเดือนเป็นค่าดอกเบี้ยแทบทั้งหมด หักค่าดอกเบี้ยครบก่อนแล้วจึงหักเงินต้น ทำให้ผู้กู้เสียค่าดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 เท่าของเงินต้น ในระยะเวลานานถึง 30 ปี จึงอยากเรียกร้องให้ รัฐบาลพักหนี้ให้ 6 เดือน หลังจากนั้นให้ลดดอกเบี้ยเหลือร้อยละ 1 เหมือนเกษตรกร



นอกจากนี้ยังบังคับให้ครูทำประกันชีวิตอ้างว่าเพื่อประกันความเสี่ยงของธนาคารออมสินด้วย โดยบังคับหักเงินค่าประกัน 10 ปี งวดเดียว 80,000-200,000 บาท รวมแล้วกว่า 1 แสนล้านบาท โดยผู้กู้ไม่ได้รับประโยชน์หรือดอกผลจากเงินจำนวนดังกล่าวเลย แต่ผู้ได้รับประโยชน์มหาศาลคือ บริษัทประกัน ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง





อย่างไรก็ตาม นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และโฆษกกระทรวงยุติธรรม ระบุถึงกรณีนี้ว่า หากจะประกาศเบี้ยวหนี้จริง ก็จงรับสภาพการเป็นบุคคลล้มละลายหากกรณีเป็นบุคคลธรรมดาที่มีหนี้สินเกิน 1 ล้านบาท และที่สำคัญมันจะโยงพาบุคคลที่มาค้ำประกันเราเป็นบุคคลล้มละลายไปด้วย เนื่องจากหนี้เกิดโดยนิติกรรมสัญญา เมื่อมีการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้น ก็ย่อมเกิดความเป็นเจ้าหนี้ ลูกหนี้ขึ้น โดยปกติเมื่อเกิดหนี้ ลูกหนี้จะหลุดพ้นจากเคราะห์แห่งหนี้ได้ด้วยการชำระหนี้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งอบะพาณิชย์ มาตรา 5 ในการใช้สิทธิแห่งตนก็ดี ในการชำระหนี้ก็ดี บุคคลทุกคนต้อง กระทำโดยสุจริต