คำต่อคำหัวหน้าซีล เผยนาทีสูญเสีย “จ.อ.สมาน” (คลิป)

2018-07-12 13:00:13

คำต่อคำหัวหน้าซีล เผยนาทีสูญเสีย “จ.อ.สมาน” (คลิป)

Advertisement

“น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์”หัวหน้าหน่วยซีลเผยนาทีสูญเสีย “จ่าแซม” รับอาสาไปวางขวดอากาศร่วมกับทีมดำน้ำต่างชาติ หายไป 7 ชม. ยังไม่กลับ จนประมาณตี 1 คู่บัดดี้ดำน้ำกลับมาที่โถง 3 คนเดียว แล้วแจ้งข่าวร้าย ชี้เป็นคืนที่สูญเสียแต่ต้องเดินหน้าต่อไป

เมื่อวันที่ 12 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผวจ.พะเยา ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย (ศอร.) แถลงข่าวปิดศูนย์ภายหลังนำทีมหมูป่าอะคาเดมีแม่สายทั้ง 13 คนออกจากเนินนมสาว ถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อย่างปลอดภัย



 น.อ.อนันต์ สุราวรรณ์ ผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่ 1 หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ กองทัพเรือ (หน่วยซีล) ได้เล่าถึงภารกิจถ้ำหลวงว่า ผมมาถึงพื้นที่ประมาณ 02.45 น. วันอาทิตย์( 24 มิ.ย.) เข้าไปในถ้ำประมาณ 04.00 น. พวกเราเป็นชาวทะเล เมื่อได้รับรายงานว่ามีเหตุเกิดในถ้ำก็นึกภาพไม่ออกว่าสถานที่เกิดเหตุจะเป็นอย่างไร ถ้ำก็คงพอมีแสงสว่างให้เราทำงานได้บ้าง พอฟังบรรยาสรุปเสร็จคิดว่าภารกิจนี้ไม่น่ายาก เพราะรู้แล้วว่าเด็กจะไปทางไหน  ก้าวแรกที่ก้าวเข้าไปในถ้ำรู้แล้วว่าไม่ใช่งานง่าย ในถ้ำมืดสนิท เส้นทางจากปากถ้ำไปยังสามแยกที่คาดว่าเด็กจะเข้าไปประมาณเกือบ 3 กม. ต้องปีนโขดหินคล้าย ๆ หน้าผา บางช่วงก็ลอดรูเล็ก ๆเข้าไป วันแรกเราไปถึงสามแยกประมาณ 05.30 น. เราเริ่มดำน้ำประมาณ 07.00 น. สามารถทะลุไปยังจุดที่คิดว่าเด็กจะไป และตามไปจนถึงระยะหนึ่ง ตอนนั้นไม่รู้อะไรเพราะมืดมาก ตลอดเส้นทางนั้นพบว่าผนังถ้ำเป็นโคลนหนา คาดว่าถ้ำนี้เคยมีน้ำท่วม




น.อ.อนันต์ กล่าวต่อว่า เราทำงานอยู่ตรงสามแยก น้ำจะไหลไปทางดอยผาหมี ทำงานตั้งแต่ 05.00-16.00 น. ทำงานกันจนลืมเวลา สังเกตว่าน้ำขึ้นตลอดเวลา น้ำขึ้นเร็วมากจาก ชม.ละ 2 ซม. เป็น 8 ซม. และ 13 ซม. ประเมินแล้วว่าจะเกิดอันตรายเพราะน้ำขึ้นตลอดจึงต้องรีบถอนตัวออกมา ก็ต้อแจ้งท่านผู้ว่าฯ ว่าจะทำงานได้ต้องสูบน้ำ แต่การสูบน้ำออกมาลดน้อยมาก เราไม่สามารถรอเวลาได้ เพราะเวลาล่วงเลยมามากแล้ว ระหว่างรอน้ำลด ทีมงานของเราก็ดำน้ำเพื่อวางไกด์ไลน์ไปเรื่อยๆ จากโถง 3 ไปยัง 3 แยก โดยไม่รู้ว่าเมื่อไหร่น้ำจะลด จึงต้องขอรับบริจาคขวดอากาศเพิ่ม





น.อ.อนันต์ กล่าวอีกว่า นักดำน้ำชาวอังกฤษที่ออกจากโถง 3 ไป จนพบเด็กและกลับมานั้นใช้เวลาในการดำน้ำประมาณ 5 ชั่วโมงครึ่ง จากจุดที่เราดำน้ำไป และนักดำน้ำชาวอังกฤษดำน้ำต่อ คาดว่าประมาณ 500-700 เมตร เราประเมินสถานการณ์ว่าเราไปได้ ทีมงานจึงเตรียมสะเบียง น้ำ อาหาร ผ้าห่ม คัดคนที่คิดว่าดีที่สุดเข้าไป 4 คน จากนั้นก็ส่งไปอีก 3 คน หนึ่งในนั้นมีหมอภาคย์อยู่ด้วยเพื่อดูแลเด็ก ๆ 2 ทีมที่ส่งไปขาดการติดต่อ 23 ชั่วโมง นี่คือความเครียดของผู้ปฏิบัติที่ส่งลูกน้องไปทำงานแล้ว ไม่รู้ว่าเป็นหรือตาย 23 ชม.ผ่านไป ซีลกลับมาที่โถง 3 จำนวน 3 คน โดยแต่ละคนนำถังอากาศไปคนละ 4 ถัง ทุกคนใช้เกือบหมดทุกคน มี 3 นายเหลืออากาศอยู่เล็กน้อยจึงดำน้ำกลับมาโถง 3

“ผู้รับผิดชอบหน้างานเครียดตลอดเวลา ความยากของงานคือความมืด เป็นงานใหม่ที่เราไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ความเย็นของน้ำในถ้ำ และเราไม่รู้ว่าน้ำจะมาอีกเมื่อไหร่ปัจจัยต่าง ๆ คือความเสี่ยงที่ต้องคิดตลอด แต่เรามีทีมนักฟุตบอล 13 ชีวิตที่รอคอยอยู่ เราทิ้งไม่ได้ 3 คนที่กลับมาต้องเข้า รพ.ทั้งหมด สภาพร่างกายแย่มาก เมื่อเจอสถานการณ์นี้ต้องคิดใหม่จะเดินต่อไปอย่างไร เราก็มาปรับแผนใหม่ ทุกครั้งที่ส่งลูกน้องไปทำงาน 10 ชม.ก็มี  7 ชม.ก็มี 3 -4 ชม. กว่าจะกลับมาให้เราเห็นหน้าว่ายังมีชีวิตอยู่ ”น.อ.อนันต์ กล่าว





น.อ.อนันต์ กล่าวอีกว่า สำหรับวันที่สูญเสีย “จ่าแซม” จ.อ.สมาน กุนัน ซีลนอกราชการ คืนนั้นรับอาสาไปวางขวดอากาศร่วมกับทีมดำน้ำต่างชาติ 4 คน คนไทย 2 คนหนึ่งในนั้นคือจ่าแซม การดำน้ำเข้าไปวางขวดอากาศใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ผมคิดว่าถ้าต่างชาติใช้เวลาประมาณ 3 ชม. ลูกน้องเราน่าจะประมาณไม่เกิน 5 ชม. แต่ 5 ชม.ผ่านไป 5 ชม.ผ่าน6 ชม.ผ่านไป 7 ชม.ผ่านไป ยังไม่กลับทั้ง 2 คน ประเมินสถานการณ์ก็ยังเข้าข้างตัวเองว่า ลูกน้องเราคงจะเหนื่อยและพัก เพราะจากโถง 3 ไปประมาณ 400 เมตรมีช่วงที่น้ำตื้นสามารถเดินได้ จนประมาณตี 1 คู่บัดดี้ดำน้ำกลับมาที่โถง 3 คนเดียว แล้วแจ้งว่าเกิดเหตุไม่ดีขึ้น ก็เป็นคืนที่เราสูญเสีย 1 ชีวิต กับอีก 13 ชีวิตที่เรารอคอยกันอยู่ เราก็เดินหน้าต่อ เราก็ยอมรับในความเสี่ยง เพราะหน่วยเราถูกฝึกมาเพื่อรับภารกิจเสี่ยงอยู่แล้ว ความสูญเสียเราก็เตรียมใจอยู่แล้ว 

อ่านข่าวที่่่เกี่ยวข้อง

“เฉลิมชัย” เตรียมสร้างอนุสาวรีย์สดุดี “จ่าแซม”




“งานนี้เป็นโอกาสดีของหน่วยงานผมเอง ที่ได้มีโอกาสร่วมงานกับทีมงานดำน้ำระดับโลก ทำให้เราได้เห็นวิธีการ แนวทาง เทคนิคในการดำน้ำในถ้ำ เพื่อที่เราจะได้พัฒนาขีความสามารถ”น.อ.อนันต์ กล่าว