ประชากรยุงลายแพร่เชื้อไข้เลือดออกกว่าร้อยละ 80 ถูกกำจัดไปจากเมืองในประเทศออสเตรเลีย หลังจากที่นักวิทยาศาสตร์ทดลองทำหมันยุงลายตัวผู้ก่อนปล่อยกลับสู่ป่า
ภาพ AFP
ทีมวิจัยจาก CSIRO สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติของออสเตรเลียได้เพาะพันธ์ุยุงลายตัวผู้ซึ่งไม่กัดนับล้านตัวในห้องปฏิบัติการทดลองของมหาวิทยาลัยเจมส์คุก (JCU) โดยโครงการทดลองนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทแอลฟาเบต บริษัทแม่ของกูเกิลนั่นเอง
ยุงลายเหล่านี้ถูกทำให้ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ซึ่งยังผลให้เกิดการเข้ากันไม่ได้ของไซโทพลาซึมระหว่างยุงตัวผู้และตัวเมีย โดยหากยุงตัวผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรีย Wolbachia ผสมพันธุ์ตัวเมียที่ไม่ติดเชื้อ ก็จะส่งผลให้ลูกที่เกิดจากการผสมพันธุ์ไม่เติบโต
จากนั้นก็ถูกนำไปปล่อยตามป่าที่เป็นสถานที่ทดลองแห่งต่าง ๆ ในเมืองอินนิสเฟล รัฐควีนส์ทาวน์ และกว่า 3 เดือนหลังจากนั้นพวกมันก็ผสมพันธุ์กับยุงตัวเมียไข่ที่ไม่ฟักตัวทำให้ประชากรยุงลายลดจำนวนลง
อย่างไรก็ตามวิธีนี้ก็ยังไม่ถือว่าได้ผลแบบเต็มร้อย เพราะหากยุงตัวผู้ที่ติดเชื้อแบคทีเรียตัวนี้ไปผสมพันธุ์ตัวเมียที่ติดเชื้อเหมือนกันก็จะสามารถแพร่พันธุ์ได้ตามปกติ
ภาพ Surapol Usanakul / Shutterstock.com
ยุงลายเป็นหนึ่งในตัวแพร่เชื้อไวรัสที่อันตรายที่สุดของโลก โดยแบ่งเป็นยุงลายบ้านกับยุงลายสวน โดยยุงลายสายพันธุ์แรกนั้นสามารถแพร่เชื้อไวรัสซิกา ไวรัสไข้เลือดออกและไวรัสชิคุนกุนยาอัน และเป็นตัวการที่ทำให้ประชากรทั่วโลกติดเชื้อไวรัสนับล้านคนในปีหนึ่ง ๆ
คีแรน สตอนตันจากมหาวิยาลัยเจมส์คุกกล่าวว่าการทดลองนี้ประสบความสำเร็จและเป็นการก้าวหน้าไปอีกขั้น “เราได้เรียนรู้อย่างมากจากการทดลองร่วมกันในพื้นที่ร้อนชื้นเป็นครั้งแรก และเราตื่นเต้นมากที่จะได้เห็นว่าวิธีการนี้จะถูกนำไปปรับใช้อย่างไรในภูมิภาคอื่น ๆ ที่ยุงลายเป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของมนุษย์”
ภาพ MIA Studio / Shutterstock.com
เทคนิคการทำหมันแมลงเคยถูกนำมาใช้แล้ว แต่ความท้าทายทำให้เทคนิคนั้นได้ผลกับยุงลาย ทั้งต้องต้อนมันมาให้มากพอ ระบุตัวผู้ แยกตัวเมียที่กัด จากนั้นก็ปล่อยมันออกไปในจำนวนที่มากพอจะช่วยลดประชากรลงได้
เพื่อจัดการกับความท้าทายนี้ เวอริลี บริษัทด้านชีววิทยาศาสตร์ที่ได้เงินสนับสนุนจากแอลฟาเบตก็ได้พัฒนาเทคโนโลยีกวาดต้อนยุงลาย จัดแบ่งเพศและปล่อยพวกมันออกไปมาช่วยแก้ปัญหา ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการระดับโลก Debug Project ของบริษัทด้วย