นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะเทคนิคการสัมภาษณ์ทีมหมูป่า 13 ชีวิต สอบถามมุมมองด้านบวก วิธีปลุกปลอบใจกัน เลือกสัมภาษณ์บุคคลไม่ให้ซ้ำกัน ป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ
เมื่อวันที่ 4 ก.ค. นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2561 รศ.นพ.ชวนันท์ ชาญศิลป์ นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ทำหนังสือคำแนะนำในการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยมาถึงสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในกรณีการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 13 คน ที่ถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จ.เชียงราย โดยเนื้อหาตอนหนึ่งในหนังสือระบุว่า เด็กที่ทุกคนที่ได้รับการช่วยเหลือออกมายังอยู่ในช่วงที่ต้องได้รับการฟื้นฟูร่างกายและจิตใจอีกช่วงระยะเวลาหนึ่ง สมาคมจิตแพทย์เป็นห่วงในเรื่องความสนใจในการติดตามข่าว ตลอดจนการทำข่าวอันจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของสภาพจิตใจของเด็กๆในทีม จึงส่งคำแนะนำแนวทางการสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยสำหรับสื่อมวลชนเพื่อจะช่วยกันระมัดระวังในบางประเด็น
โดยหนังสือดังกล่าวเขียนถึงข้อควรระวังของสื่อมวลชนว่า การสัมภาษณ์ผู้ประสบภัยควรให้ผู้ประสบภัยได้พักและรับการปลอบใจจากครอบครัวเป็นส่วนตัว จนสภาพร่างกายและจิตใจฟื้นตัวก่อน การสัมภาษณ์ควรสอบถามมุมมองด้านบวก เช่น วิธีปลุกปลอบใจกันให้มีกำลังใจในกลุ่มผู้ประสบภัย ใช้อะไรในการสร้างความหวัง และควรมีการป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำเติมทางจิตใจ(retraumatization) เช่น การสอบถามในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เวลาเล่าจะเป็นการกระตุ้นให้ระลึกถึงเหตุการณ์นั้นซ้ำจนทำให้ผู้ประสบภัยเกิดอาการของความหวาดกลัว ตกใจ หดหู่จิตใจขึ้นมาอีก บางครั้งผู้สัมภาษณ์เจตนาถามให้เกิดอารมณ์ร่วมด้วยมากๆ เพื่อให้ภาพข่าวมีอารมณ์ มีสีสัน กระตุ้นความรู้สึกผู้ชม แต่การทำเช่นนั้นเป็นผลเสียแก่ผู้ถูกสัมภาษณ์อย่างมาก รบกวนการฟื้นตัวทางจิตใจอาจทำให้อาการของโรคเป็นเรื้อรัง โดยเฉพาะเมื่อมีการสัมภาษณ์ซ้ำๆให้เครียดมาก การสัมภาษณ์ควรเลือกสัมภาษณ์บุคคลไม่ให้ซ้ำกัน
ส่วนการนำเสนอข่าว นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่า ข่าวที่นำเสนออย่างตื่นเต้น สมจริงสมจังมาก กระตุ้นให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกตื่นเต้นตามไปด้วยจนเมื่อชมมากๆ หรือบ่อยๆ จะเกิดอาการทางจิตเวชได้ บางคนเกิดอาการได้มากเหมือนผู้ที่เผชิญภัยพิบัติจริงๆ คนที่เผชิญภัยพิบัติมาแล้วได้มาชมข่าวเช่นนี้จะเกิดภาวะซ้ำเติมทางจิตใจได้เช่นกัน
ในการป้องกันแก้ไข นายกสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย แนะนำว่า 1. การนำเสนอข่าวควรมีการสอดแทรกและแนะนำทางออก ทางแก้ไข คำแนะนำทางสุขภาพจิตเพื่อให้ความรู้การปฏิบัติตัว เช่น ให้เข้าใจสำหรับผู้ประสบภัยว่าความรู้สึกไม่ดีที่เกิดขึ้นในระยะแรกนั้นเป็นเรื่องธรรมดา หายได้ ควรทำตัวอย่างไร 2. นำเสนอเรื่องผ่อนคลายสลับ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ