รัฐบาลมาเลเซีย กำลังสอบสวนเรื่องการแต่งงานของเด็กหญิงชาวไทย วัย 11 ขวบ จากสุไหงโกลก จ.นราธิวาส กับชายชาวมาเลเซีย วัย 41 ปีจากรัฐกลันตัน หลังจากกรณีนี้ จุดชนวนให้เกิดความไม่พอใจและถกเถียงกันด้านกฎหมายเกี่ยวกับการมีคู่ครองหลายคนในเวลาเดียวกันของมาเลเซีย และการแต่งงานกับเด็ก
ดาโต๊ะ เสรี ดร.วันอา อาซีซาห์ วัน อิสมาอิล รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวว่า ทางการมาเลเซียกำลังตรวจสอบว่า มีการเตรียมเด็กเพื่อทารุณกรรมทางเพศ หรือแสวงหาผลประโยชน์จากเด็ก เกิดขึ้นก่อนการแต่งงานหรือไม่ และจะเสนอให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์และที่ปรึกษา ไปให้ความช่วยเหลือเด็กหญิง ในการรับมือกับสถานการณ์นี้
ทั้งการแต่งงานกับเด็กและการมีคู่ครองหลายคนในมาเลเซีย สามารถดำเนินการได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หากได้รับการปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด แต่ก็มีผู้แสดงความวิตกกังวลว่า กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่นิยมมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็ก และแสดงหาผลประโยชน์จากเด็ก
ทั้งนี้ ในมาเลเซีย มีกฎหมายครอบครัวอิสลามที่บังคับใช้กับทุกรัฐ กฎหมายดังกล่าวระบุว่า ผู้ที่จะแต่งงานได้ต้องเป็นชายอายุ 18 ปีขึ้นไป และเป็นหญิงอายุ 16 ปีขึ้นไป ส่วนคนที่มีอายุต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดจะได้รับอนุญาตให้แต่งงานได้ ถ้าหากพวกเขาได้รับความยินยอมจากพ่อแม่ และได้รับการอนุมัติจากศาลชารีอะฮ์ (Syariah Court) ซึ่งเป็นศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีตามหลักศาสนาอิสลามสำหรับชาวมุสลิมแล้วเท่านั้น
จากการรายงานข่าวของสำนักข่าวเบอร์นามา ระบุว่า ทั้ง 2 คน จัดพิธีแต่งงานกันเมื่อเดือนที่แล้วในสุไหงโกลก ขณะที่หนังสือพิมพ์สเตรท ไทม์ส หนึ่งในหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของมาเลเซีย รายงานว่า เด็กหญิงและพ่อแม่ของเด็กหญิง เป็นชาวไทย แต่อาศัยอยู่ในมาเลเซีย
ข่าวการแต่งงานดังกล่าวแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็ว หลังจากภรรยาคนที่ 2 ของเจ้าบ่าว ได้โพสต์ภาพแต่งงานลงในโซเชียล มีเดีย และเด็กหญิงคนดังกล่าว จะเป็นภรรยาคนที่ 3 อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คน ไม่ได้แต่งงานตามกฎหมายในไทย หรือมาเลเซีย แต่ชายคนดังกล่าว กล่าวกับเบอร์นามาว่า เขาจะรอจนกว่าเด็กหญิงจะได้รับทะเบียนสมรส เมื่อถึงอายุ 16 ปี และพวกเขาจะไม่อาศัยอยู่ด้วยกัน จนกว่าเด็กหญิงจะอายุได้ 16 ปีบริบูรณ์ เขาบอกด้วยว่า ทั้ง 2 แต่งงานด้วยการยินยอมพร้อมใจของพ่อแม่เด็กหญิงแล้ว และว่าเขาจะปฏิบัติตามกฎหมายเพื่อเคลียร์ชื่อของเขาออกจากข้อกล่าวหาที่ไม่ถูกต้องและประสงค์ร้าย
รองนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาว่า ไม่มีการบันทึกการแต่งงานเกิดขึ้นในรัฐกลันตัน ของฝ่ายชาย และเธอก็ไม่เห็นหลักฐานการแต่งงานในไทยด้วย เพราะฉะนั้น ตามกฎหมายแล้ว ทั้ง 2 คนจึงยังไม่ถือว่าแต่งงานกัน
ส่วนมาเรียนเน คลาร์ค ฮัตติงห์ ผู้แทนของกองทุนเด็กแห่งสหประชาชาติประจำมาเลเซีย ระบุในแถลงการณ์ว่า เธอไม่พอใจรายงานข่าวการแต่งงานดังกล่าว เรียกว่า เป็นเหตุการณ์ที่ช็อกความรู้สึกและยอมรับไม่ได้ เช่นเดียวกับ คณะกรรมการด้านสิทธิมนุษยชนมาเลเซีย กล่าวว่า นี่คือปัญหา และเรียกร้องให้ศาลชารีอะฮ์ มีคำสั่งให้หยุดอนุญาตการแต่งงานกับเด็ก
กระทรวงพัฒนาผู้หญิง, ครอบครัวและชุมชนของมาเลเซีย แถลงในปี 2559 ว่า ในช่วง 5 ปี ระหว่างปี 2553 และ 2558 มีการแต่งงานเด็กมากกว่า 9,000 คน