ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา กว่า 5,000 คน คร่ำครวญ อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์อยากอยู่บริเวณพรมแดนเมียนมา-บังกลาเทศ ขาดแคลนสิ่งจำเป็นพื้นฐานทุกอย่าง เหมือนรอวันตาย
ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา มากกว่า 5,000 คน อาศัยอยู่ในสภาพที่เลวร้าย ในดินแดนที่มนุษย์ยากจะอาศัยอยู่ได้ ใกล้พรมแดนระหว่างเมียนมาและบังกลาเทศ เนื่องจากขาดแคลนสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ขณะเดียวกัน ก็เผชิญหน้ากับภัยคุกคามจากภัยธรรมชาติที่เลวร้ายด้วย โดยกว่า 1,200 ครอบครัว อาศัยอยู่ภายใต้ร่มเงาของความตายบนแผ่นดินผืนเล็ก ๆ บริเวณพรมแดน 2 ประเทศ ซึ่งเป็นบริเวณสันเขื่อนคลอง "ทอมบรู" ซึ่งแบ่งแยก 2 ประเทศ
โมฮัมเหม็ด ราฟีค ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา กล่าวว่า พวกเขามีชีวิตอยู่ด้วยความหวาดกลัวทุกวี่วัน ขณะที่กองกำลังรักษาความมั่นคงเมียนมา ก็เรียกร้องให้พวกเขาอพยพออกจากพื้นที่ เขาบอกว่า พวกเขาอยู่ที่นี่ด้วยความหวาดกลัว ทหารพยายามขับไล่ ประกาศผ่านเครื่องกระจายเสียงทั้งวัน โดยบอกว่า พวกเขาเป็นชาวเบงกาลี, ขอให้กลับไปบังกลาเทศ จึงเกิดความหวาดกลัว และขณะนี้ ระดับน้ำในคลองกำลังเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ความหวาดกลัวยิ่งมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่มีผลต่อความอยู่รอด แม้ว่าผู้ลี้ภัยได้รับอาหารและที่อยู่อาศัยจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์ แต่ความต้องการอื่น ๆ ของพวกเขา ยังไม่น่าพอใจ มีผู้เสียชีวิตไปแล้วประมาณ 10 คน ตั้งแต่ย้ายมาอยู่บริเวรพรมแดน ในจำนวนนี้ เป็นเด็ก 2 คน ซึ่งเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงและปอดบวม ขณะที่ หญิงตั้งครรภ์และลูกในท้อง ก็เสียชีวิต เพราะไม่มีแพทย์รักษา
ทั้งนี้ ฤดูมรสุมทำให้สภาพแวดล้อมในการอยู่อาศัยของพวกเขาเลวร้ายลง เพราะค่ายผู้ลี้ภัยจะได้รับความเสียหาย และการเดินทางก็ยากลำบาก ซึ่งสภาพที่แร้นแค้นเช่นนี้ บีบให้ผู้ลี้ภัยต้องคิดทบทวนในการอาศัยอยู่ที่นี่ หลายคนที่พักอยู่ที่นี่ ก็ด้วยความหวังว่าจะเป็นกลุ่มแรก ๆ ที่จะได้เดินทางกลับบ้านในรัฐยะไข่ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีการเจรจาเรื่องการส่งตัวชาวโรฮีนจาที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่ยากลำบากนี้ กลับแล้ว แต่ก็ยังไม่มีผลอย่างเป็นรูปธรรม