ทรัมป์-ปูติน ได้ฤกษ์จับเข่าคุย วันที่ 16 ก.ค.

2018-06-29 12:50:06

ทรัมป์-ปูติน ได้ฤกษ์จับเข่าคุย วันที่ 16 ก.ค.

Advertisement

ทรัมป์และปูติน กำหนดฤกษ์จับเข่าคุยกันแล้ว เป็นวันที่ 16 กรกฏาคมนี้ ในกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงฟินแลนด์



เมื่อวานนี้ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ และประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยืนยันแผนการประชุมสุดยอดในกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ในวันที่ 16 กรกฎาคม ซึ่งกำลังได้รับการจับตาอย่างใกล้ชิด โดยจะเกิดขึ้นไม่กี่วันหลังการประชุม ที่คาดว่าจะเคร่งเครียดระหว่างทรัมป์ และผู้นำพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐ ทรัมป์และปูตินจะประชุมร่วมกันในวันที่ 16 กรกฎาคม ขณะที่กำลังมีการสอบสวนของคณะสอบสวนพิเศษ ถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างทีมรณรงค์หาเสียงของทรัมป์ และเจ้าหน้าที่รัสเซีย การสอบสวนกรณีรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งของสหรัฐ ได้เพิ่มความตึงเครียดระหว่างมอสโกและวอชิงตันอยู่ในขณะนี้ เมื่อทรัมป์กล่าวย้ำว่า เขาต้องการสร้างความสัมพันธ์ส่วนตัวให้แข็งแกร่งกับปูติน

สถานที่และวันของการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ถูกประกาศในแถลงการณ์ทั้งจากรัสเซียและสหรัฐแล้ว โดยทำเนียบขาวระบุว่า 2 ประธานาธิบดีจะหารือกันเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและรัสเซีย และปัญหาความมั่นคงแห่งชาติด้วย




ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ของทรัมป์ กับปูติน ก่อให้เกิดความสับสนมานานแล้ว ทั้งในประเทศและทั่วโลก ทรัมป์ ชื่นชมปูตินขณะที่ความสัมพันธ์กำลังตึงเครียดกับพันธมิตรใกล้ชิดที่สุดของสหรัฐ กรอบเวลาของการประชุมของทรัมป์กับปูติน ดูเหมือนจะผ่อนคลายความตรึงเครียดทั่วยุโรป เนื่องจากเกิดขึ้นเมื่อทรัมป์สิ้นสุดการเยือนยุโรปนาน 1 สัปดาห์ ซึ่งเริ่มต้นด้วยการประชุมสุดยอดผู้นำองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต พันธมิตรด้านการทหาร 29 ชาติในอเมริกาเหนือและยุโรป



การประชุมนาโตเมื่อปีที่แล้ว ทรัมป์ตำหนิผู้นำนาโตเรื่องค่าใช้จ่ายของนาโต และไม่จ่ายเงินเพียงพอในการสนับสนุนการป้องกันนาโต




จากกรุงบรัสเซลส์ ทรัมป์จะเยือนสหราชอาณาจักรเป็นครั้งแรก ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง เขาจะพบหารือกับนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ของอังกฤษ แต่จะไม่ได้รับการต้อนรับแบบรัฐพิธี แต่ก็คาดว่าจะมีกลุ่มผู้มาประท้วงเขาเช่นกัน

เมื่อต้นเดือน ทรัมป์เรียกร้องให้รัสเซียคืนสู่กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ชาติ หรือจี-7 ซึ่งขับรัสเซียออกจากกลุ่มเมื่อ 4 ปีก่อน เพื่อเป็นการลงโทษการผนวกเอาไครเมียเป็นของรัสเซีย และสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนฝักใฝ่รัสเซียในยูเครน ซึ่งความคิดในการคืนสิทธิให้รัสเซียเข้าร่วมกลุ่มอีกครั้ง ถูกปฏิเสธจากประเทศสมาชิกจี-7