แพทย์ห่วงเด็กในถ้ำขาดออกซิเจน ชี้สิ่งแรกต้องช่วยเมื่อพบคือ “สัญญาณชีพ”

2018-06-27 17:05:40

แพทย์ห่วงเด็กในถ้ำขาดออกซิเจน ชี้สิ่งแรกต้องช่วยเมื่อพบคือ “สัญญาณชีพ”

Advertisement

กุมารแพทย์เผย เป็นห่วงเด็กที่ติดอยู่ในถ้ำในเรื่องของภูมิต้านทานร่างกาย เพราะจะมีโอกาสทนต่อการขาดน้ำ ขาดอาหาร ขาดอากาศได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ชี้ทันทีที่พบตัวนำออกจากถ้ำต้องช่วยเหลือเรื่องของสัญญาณชีพให้ดีก่อนเป็นอันดับแรก

อาจารย์ พญ.โรจนี เลิศบุญเหรียญ กุมารแพทย์ รพ.รามาธิบดี เปิดเผยตามหลักวิชาการ เนื่องจากเด็กต้องอยู่ในพื้นที่ที่จะขาดทั้งน้ำ อากาศ อาหาร และน้ำ เด็กไม่ใช่ผู้ใหญ่ เด็กๆ จะมีโอกาสทนต่อการขาดน้ำ ขาดอากาศ ขาดอาหาร ได้น้อยกว่าผู้ใหญ่โดยทั่วไป ในเด็กอีกมีปัญหาที่พบบ่อย คือจะมีพื้นที่ผิวต่อตัวค่อนข้างเยอะจึงมีโอกาสที่จะสูญเสียน้ำในตัวได้มากกว่าผู้ใหญ่ และที่น่ากังวลก็คือ เด็กๆ จะมีภูมิต้านทานน้อยกว่าผู้ใหญ่ ขึ้นอยู่กับว่าจะมีความฟิตของร่างกายแค่ไหน ถ้าเป็นเด็กที่ไม่ได้เล่นกีฬาเลยอาจจะแย่กว่านี้ แต่เด็กๆ เหล่านี้เล่นฟุตบอล เพราะฉะนั้นน่าจะได้รับการฝึกฝนอย่างดี ในเรื่องของปอด หัวใจ น่าจะทำงานได้ดีกว่าเด็กธรรมดา แต่ถ้ายิ่งนานวันเข้ากลัวในเรื่องของการขาดอากาศ แค่ไม่กี่นาทีอาจจะทำให้หมดสติ หายใจไม่พอ หากระยะเวลานานขึ้นจึงไม่แน่ใจว่า เด็กๆ จะทนได้แค่ไหน รวมถึงร่างกายอ่อนแอลงเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่กังวล

ถ้าช่วยเหลือออกมาแล้ว แต่ขาดอากาศออกซิเจน ถ้าระดับการขาดออกซิเจนไม่ได้มีปริมาณที่สูงมาก เช่น ยังพูดคุยได้ โอกาสที่จะเกิดผลระยะยาวอาจไม่มาก แต่ร่างกายต้องได้รับการฟื้นฟู ต้องพักรักษาตัวจนกว่าจะแข็งแรงเหมือนเดิม





ส่วนในกรณีที่พบตัวเด็กและนำตัวออกมาจากถ้ำได้แล้ว สิ่งที่ต้องช่วยเหลือก่อน คือ เรื่องของสัญญาณชีพ ให้มีสัญญาณชีพที่ดี ส่วนเรื่องการติดเชื้อต้องทำการศึกษาว่าในถ้ำมีเชื้อโรคติดต่ออะไรบ้าง ที่เจอบ่อยๆ คือ เชื้อโรคพิษสุนัขบ้าจากค้างคาว อาจไม่โดนกัดโดยตรง แต่หากไปสัมผัสมูลสัตว์ หรือน้ำลายสัตว์ก็อาจทำให้ติดเชื้อโรคได้ และอีกอย่างคือ เรื่องของเชื้อโรคที่มากับน้ำ อาจก่อให้เกิดอาการท้องร่วง รวมถึงเรื่องของโรคระบบทางเดินหายใจที่ต้องอยู่ร่วมกันในที่คับแคบ ฉะนั้นระหว่างการตรวจรักษาอาจเป็นการกักบริเวณไว้ก่อน เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรคสู่คนใกล้ชิด