กสทช.ขอทีโอทีปิดคลื่นป้องกันบีทีเอสขัดข้อง

2018-06-27 13:55:39

กสทช.ขอทีโอทีปิดคลื่นป้องกันบีทีเอสขัดข้อง

Advertisement

กสทช. ขอความร่วมมือทีโอทีปิดคลื่น 2300 เมกะเฮิรตซ์ที่รบกวนระบบวิทยุสื่อสารบีทีเอส เพื่อป้องกันการเกิดปัญหารถไฟฟ้าขัดข้องช่วงระหว่างบีทีเอสเปลี่ยนเครื่องรับสัญญาวิทยุใหม่เสร็จเที่ยงคืน 29 มิ.ย.


เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือแนวทางแก้ปัญหารถไฟฟ้าบีทีเอสขัดข้อง ร่วมกับผู้บริหารบีทีเอส ทีโอที และดีแทค ว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้น เกิดจากระยะห่างของคลื่นความถี่ 2300 เมกะเฮิรตซ์ของทีโอที และคลื่นความถี่ 2400 เมกะเฮิรตซ์ของบีทีเอสมีระยะห่างกันอยู่ที่ 30 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งใกล้กันทำให้รบกวนระบบวิทยุสื่อสารในระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอส ดังนั้นข้อสรุปเบื้องต้น ในช่วง 2 วันหลังจากนี้ได้ขอความร่วมมือให้ทีโอทีปิดสัญญาณคลื่นย่านความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ ตามแนวของรถไฟฟ้าประมาณ 10 สถานี เพื่อป้องกันการรบกวนระบบวิทยุสื่อสารในระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2400 เมะเฮิรตซ์ ในระหว่างที่บีทีเอสทำการปรับเปลี่ยนไปใช้เครื่องรับสัญญาณวิทยุใหม่ ซึ่งจะแล้วเสร็จในช่วงเที่ยงคืนของวันที่ 29 มิ.ย.นี้ ซึ่งจะทำให้ระยะห่างของคลื่นความถี่ไกลขึ้น และจะทำให้ปัญหาบีทีเอสขัดข้องคลี่คลายลง



นายฐากร กล่าวยืนยันว่า การปิดคลื่นความถี่ย่าน 2300 เมกะเฮิรตซ์ของทีโอที จะไม่กระทบกับผู้ใช้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือดีแทค เพราะสามารถเปลี่ยนไปใช้คลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์โดยอัตมัติ

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กล่าวว่า ในช่วงตลอดสัปดาห์นี้ บีทีเอสยังมีโอกาสขัดข้องอยู่ แต่เชื่อว่าในวันเสาร์ที่ 30 มิ.ย.นี้ การให้บริการของบีทีเอสจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติ และขณะนี้อยู่ระหว่างหาข้อสรุปถึงแผนเยียวยาผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากการใช้บริการที่เกิดขึ้น สำหรับในอนาคต กสทช. มีแผนที่จะจัดคลื่นความถี่เพื่อกิจการในระบบรถไฟฟ้าโดยเฉพาะ ซึ่งล่าสุดได้จัดสรรคลื่นย่าน 850-900 เมกะเฮิรตซ์ให้กับรถไฟความเร็วสูงเมื่อปี 2560 และจะจัดสรรให้นำมาประมูลอีก 5 เมกะเฮิรตซ์ และจะใช้ระบบติดตั้งระบบฟิลเตอร์ป้องกันคลื่นความถี่ ซึ่งจะทำให้ระบบการเดินของรถไฟฟ้าในอนาคตมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยมากขึ้น