เปิดใจ “หมอล็อต”ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก

2018-06-22 16:45:17

เปิดใจ “หมอล็อต”ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก

Advertisement

“หมอล็อต” เปิดใจกับตำแหน่ง “ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก” ระบุไม่ได้วิเศษเลิศเลอกว่าคนอื่น พร้อมตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ตามมาตรฐานต่อไป

เวลามีข่าวเกี่ยวกับสัตว์ป่าครั้งใด โดยเฉพาะช้างป่า เรามักจะได้ยินชื่อ น.สพ.ภัทรพล มณีอ่อน หรือ "หมอล็อต" นายสัตวแพทย์ประจำกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่า และพันธุ์พืช ออกมาให้คำแนะนำ ร่วมถึงคอยอำนวยการร่วมกับชุดเคลื่อนที่เพื่อให้ทั้งประชาชนและช้างป่าปลอดภัย ความทุ่มเท ทั้งแรงกาย แรงใจ ในการทำงาน ทำให้องค์กรเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development : USAID) ได้มอบตำแหน่ง Wildlife Champion ให้กับหมอล็อต ในฐานะ “ทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก” อีกด้วย



เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. “หมอล็อต” ให้สัมภาษณ์รายการ "ข่าวชนช่าวเย็น" ช่อง “นิว18” ถึงตำแหน่งทูตพิทักษ์สัตว์ป่าคนแรกของโลก ว่า ทาง USAID มองว่า ประเทศไทยมีการแก้ไขปัญหาสัตว์ป่า การจัดการสัตว์ป่า ทั้งในและนอกถิ่นอาศัย โดยกรมอุทยานแห่งชาติฯ ซึ่งการดำเนินการที่ผ่านมา ทั้งการเพิ่มจำนวนเสือ การทำให้ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งมากขึ้น การแก้ปัญหางาช้าง การล่าช้าป่าเพื่อเอางาไม่มีแล้ว โดยภาพรวมเขาต้องการให้เครดิตประเทศไทย เขาให้เกียรติและชื่นชมประเทศไทย และมองมาที่หน่วยงานรัฐ ถามว่าใครจะเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ เขาก็มองมาที่ผมว่าน่าจะเป็นสัญลักษณ์การดำเนินการด้านนี้ ทั้งที่ความจริงแล้วเราทำงานเป็นทีม





“ผมเป็นข้าราชการก็ทำงานตามหน้าที่ ไม่ได้วิเศษเลิศเลอกว่าคนอื่น พอได้รางวัล เราต้องทำตามมาตรฐานนี้ ตั้งหน้าตั้งตาทำหน้าที่ต่อไป แต่บทบาทที่ผมได้รับคือ 5 ปี จะต้องเดินทางไปทั้งในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้เราต้องสำรวจและเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่ที่อาจติดต่อจากสัตว์สู่มนุษย์ ซึ่งได้ทำวิจัยร่วมกับจุฬาฯ คณะวนศาสตร์ มก. เป็นการวิจัยระดับโลก เพื่อชี้ให้ให้เห็นว่า เนื้อสัตว์เป็นแค่แหล่งโปรตีนเท่านั้น แถมมีเชื้อโรคคือไวรัส พอติดต่อสู่สัตว์ และคนทำให้เกิดโรคได้”หมอล็อต กล่าว

หมอล็อต กล่าวถึงปัญหาช้างป่าในขณะนี้ว่า กรณีมีช้างป่าออกนอกพื้นที่ ปัจจุบันได้สร้างการมีส่วนร่วมให้ชาวบ้านมาร่วมกับเจ้าหน้าที่ในการผลักดันช้างป่าร่วมกัน ณ เวลานี้เลยจุดที่จะมานั่งเถียงกันว่าคนบุกรุกช้างหรือช้างบุกรุกที่คน แต่จะทำอย่างไรให้อยู่ด้วยกัน ไปด้วยกันได้ ไม่ต้องเถียงกันใครมาก่อนมาหลัง จากที่มีการทำรั้วไฟฟ้าป้องกัน ช้างจะใช้งวงจับ ทำให้เสียชีวิต ทางกรมอุทยานฯได้ทำโครงการศึกษาวิจัย หนึ่งในวิธีที่ได้ผลคือการทำรั้วรังผึ้ง มีการตัดต่อพันธุกรรมผึ้งไม่ต่อยคน ไม่ต่อยช้าง แต่เวลากระพือปีกจะรบกวนโสตประสาทของช้าง โดยช้างจะมีประสาทสัมผัสที่ดีที่สุด เวลาช้างไปสัมผัสกับรั้ว ผึ่งจะแตกรัง ส่งเสียงรบกวนช้าง แต่สิ่งที่ได้ผลมากกว่านั้น ราษฎรจะได้น้ำผึ้งด้วย รายได้ปีหนึ่งนับแสนบาท ตอนนี้ก็เลยมีหลายหมู่บ้านอยากได้รั้วรังผึ้งกันช้าง





หมอล็อต ยังได้กล่าวถึงกรณีช้างป่าสีดอแดง หนีออกจากสถานกักกันช้างป่าเขาตะกรุบ จ.สระแก้ว กระบวนการขั้นตอนไม่มีความผิดพลาด แต่ความสามารถที่เขาสามารถฝ่ารั้วไปได้ ตัวเขาสัมผัสกับกระแสไฟฟ้า ดังเปรี๊ยะ เพราะเขาใช้สันงวงแตะกระแสไฟฟ้า ซึ่งปลายงวงจะดีดออก แต่ช้างตัวอื่นจะใช้งวงม้วนทำให้เกิดรอยไหม้และเสียชีวิต จากนั้นช้างสีดอแดงจะขุดหลุมลอดไป นี่คือครั้งที่ 2 ครั้งแรกช้างสีดอแดงเอากิ่งไม้ไปพังรั้วและข้ามไป ถือเป็นช้างที่ฉลาด แต่ไม่ว่าจะหนีไปที่ไหน เราก็ตามไปได้ เพราะมีเครื่องติดตาม ตอนนี้ก็อยู่ในพื้นที่ใจกลางป่าอ่างฤาไน เชื่อว่าคงจะอยู่สักระยะ คงไม่อยากถูกจับครั้งที่ 3 ทั้งนี้มีแนวคิดว่าถ้าเขาฉลาดเราจะเอาความฉลาดมาใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง เรามองว่า การจับครั้งที่ 3 อาจจะยาก ก็ต้องเข้าไปบำบัด สถานที่ที่น่าจะบำบัดได้ คือ โครงการคชอาณาจักรขององค์การสวนสัตว์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีวัฒนธรรมคนกับช้างอยู่