วันผู้ลี้ภัยโลก : ชะตากรรมยากลำบากของโรฮีนจา
วันที่ 20 มิถุนายนของทุกปีเป็น “วันผู้ลี้ภัยโลก” หรือ World Refugee Day เป็นโอกาสที่ทั่วโลกต้องหันกลับมาให้ความสนใจผู้อพยพไร้ที่อยู่อาศัยตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งผู้ลี้ภัยกลุ่มหนึ่งที่ต้องหันไปมองชะตากรรมของพวกเขา คือผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจา
ขณะนี้พวกเขากำลังดิ้นรนต่อสู้อย่างหนักเพื่อที่จะได้กลับบ้านในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของเมียนมา หลังจากที่ชาวโรฮีนจากว่า 7 แสนคน ต้องทิ้งที่อยู่อาศัย อพยพออกจากพื้นที่ เพื่อหลบหนีการกวาดล้างของกองทัพเมียนมาในรัฐยะไข่ หลังกองทัพเมียนมาไล่ล่ากลุ่มหัวรุนแรงโรฮีนจาในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2558 นับว่าเป็นวิกฤตผู้อพยพครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในโลก กลุ่มสิทธิมนุษยชน กล่าวหากองทัพเมียนมา และกลุ่มชาวพุทธในรัฐยะไข่ว่า ก่อเหตุรุนแรง ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อขับไล่ชนกลุ่มน้อยมุสลิมออกจากประเทศ
เมียนมา กล่าวว่า กองทัพปฏิบัติการกวาดล้าง “กองทัพปลดปล่อยโรฮีนจาแห่งอาระกัน” หรืออาร์ซา (Arakan Rohingya Salvation Army - ARSA) ซึ่งอ้างความรับผิดชอบในเหตุการณ์โจมตีที่มั่นด้านความมั่นคงของเมียนมาหลายครั้งในเดือนสิงหาคม 2558 และการบุกโจมตีขนาดย่อย ๆ อีกหลายครั้งในเดือนตุลาคม 2559
ข้าหลวงใหญ่เพื่อผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นเอชซีอาร์ (UNHCR) แถลงว่า ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายังคงหลบหนีจากเมียนมาข้ามพรมแดนเข้าบังกลาเทศ และมีโอกาสน้อยมากที่จะได้เดินทางกลับ หรือแทบไม่มีโอกาสเลย สมเด็จพระสันตะปาปา ฟรานซิส องค์ประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิก เคยพบกับผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมโรฮีนจาในบังกลาเทศ และใช้คำว่า “โรฮีนจา” เรียกพวกเขาเป็นครั้งแรกในการเสด็จเยือนเอเชียของพระองค์ พร้อมทั้งเรียกร้องให้เคารพสิทธิของพวกเขาด้วย
ด้านนางออง ซาน ซู จี มนตรีแห่งรัฐของเมียนมา เรียกวิกฤตโรฮีนจาว่า เป็นปัญหาที่ “ซับซ้อน” ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลของเธอได้รับเป็นมรดกตกทอดมา เธอกล่าวด้วยว่า ความขัดแย้งระหว่างชาวมุสลิมและชุมชนอื่น ๆ ในรัฐยะไข่นั้น ฝังรากลึกมานานแล้ว ตั้งแต่ศวรรษที่ 19 และการฟื้นฟูความไว้เนื้อเชื่อใจและความสมัครสมานสามัคคี จะต้องใช้เวลา
ส่วนสถานการณ์ในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจา ค็อกซ์บาซาร์ ในฝั่งบังกลาเทศนั้น ผู้ลี้ภัยชาวโรฮีนจายังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสะอาดและยังเกิดปัญหาดินถล่ม ซึ่งเกิดขึ้นจากฝนตกหนักในช่วงฤดูมรสุม ในภาคใต้ของบังกลาเทศ มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 12 ราย เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รวมทั้งชาวมุสลิมโรฮีนจาด้วย 2 ราย หน่วยงานบรรเทาทุกข์นานาชาติ ระบุว่า มีความเสี่ยงครั้งใหญ่ที่จะเกิดโรคระบาดที่มาจากปัญหาน้ำท่วม ในค่ายผู้ลี้ภัยโรฮีนจา เมืองค็อกซ์บาซาร์ ซึ่งมีผู้ลี้ภัยเกือบ 2 ล้านคน โดยที่พักเป็นเพียงกระท่อมไม้ไผ่และใช้แผ่นพลาสติกทำเป็นหลังคา ตั้งอยู่เนินเขาสูงชั้น