ประหารชีวิต! ทางออกสุดท้าย ลดอาชญากรรมได้จริงหรือ?

2018-06-19 15:55:48

 ประหารชีวิต! ทางออกสุดท้าย  ลดอาชญากรรมได้จริงหรือ?

Advertisement

หลังกรมราชทัณฑ์ ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาล ด้วยการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาดชายธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี ผู้ต้องขังในคดีฆ่านายดนุเดช สุขมาก นักตะกร้อชั้น ม.5 โรงเรียนชื่อดังในจังหวัดตรังอย่างทารุณโหดร้าย เพื่อชิงทรัพย์สินเพียง 2 พันกว่าบาท คำพิพากษามีขึ้นเมื่อบ่ายวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา นับเป็นผู้ต้องขังรายที่ 7 ที่ถูกฉีดสารพิษ แทนโทษประหารด้วยการยิงตั้งแต่ปี 2546

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับโทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 ราย โดยแยกเป็นการใช้อาวุธปืนยิงจำนวน 319 ราย การฉีดยาสารพิษ จำนวน 6 ราย เริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2546 และครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2552 ก่อนจะมีโทษประหารนักโทษชายธีรศักดิ์เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.2561

ทั้งนี้ หลายประเทศที่ยังคงมีโทษประหารชีวิตอยู่เช่นเดียวกับประเทศไทย เช่น สหรัฐอเมริกา และจีน ซึ่งเน้นการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมมากกว่าเน้นสิทธิเสรีภาพ กรมราชทัณฑ์ หวังว่าการประหารชีวิตในครั้งนี้ จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิด จะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษดังกล่าว




แต่ขณะเดียวกันองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระบุ การลงโทษคนร้ายหรือนักโทษโดยใช้วิธีประหารชีวิตนั้นไม่ช่วยให้ปัญหาอาชญากรรมในประเทศลดลงหรือหมดลงไปได้

แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเปิดเผยว่า การประหารชีวิตนับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอดอย่างน่าละอาย เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่า จะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหาร



ไม่มีหลักฐานใดๆ ชี้ชัดได้ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารนับเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากที่สุด ทั้งไม่ได้เป็น “คำตอบสำเร็จรูป” ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

หลังผ่านไปเกือบ 10 ปีที่ไม่มีการประหารชีวิต การประหารชีวิตครั้งนี้นับเป็นความถดถอยสำคัญในเส้นทางไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตของไทย รัฐบาลไทยต้องยุติแผนการใด ๆ ที่จะประหารชีวิตประชาชนอย่างต่อเนื่อง และจัดทำความตกลงชั่วคราวเพื่อยุติการใช้โทษประหารชีวิต

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการประหารชีวิตครั้งนี้ ข้อมูลจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ระบุว่า หากไม่มีการประหารชีวิตติดต่อกันครบสิบปี องค์การสหประชาชาติจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติทันที ซึ่งจะกลายเป็นพัฒนาการด้านสิทธิมนุษยชนครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของไทย