สนช.ตั้ง กมธ.ศึกษายุทธศาสตร์ชาติ

2018-06-15 18:30:17

สนช.ตั้ง กมธ.ศึกษายุทธศาสตร์ชาติ

Advertisement

“วิษณุ-กอบศักดิ์”แจงยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ขณะที่ สนช.ตั้ง กมธ. 38 คน ศึกษาก่อนให้ความชอบภายใน 7 ก.ค.นี้ เผยส่วนใหญ่เห็นด้วยแต่ยังไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน



เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ทั้งนี้ได้มีการพิจารณาเรื่องด่วนให้ความเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติ ที่ ครม.เสนอ ตามมาตรา 28 (9) แห่ง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560




นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ชาติจะบังคับใช้ประมาณ 20 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2561-2580 ช่วงเวลา20 ปี อาจจะยาวนานจนเกิดความวิตกว่าจะสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร ซึ่งประเด็นนี้กฎหมายได้กำหนดไว้แล้วว่า 1.ต้องมีการทบทวนยุทธศาสตร์ชาติทุก 5 ปี 2.ในระหว่าง 5 ปี ถ้ามีเหตุการณ์บ้านเมืองหรือสถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงไป คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติแต่ละด้าน สามารถจะยกขึ้นมาพิจารณาและแจ้งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นจะแจ้งมายังคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อขอดำเนินการแก้ไข จึงไม่เป็นเรื่องซับซ้อนและไม่ได้ผูกมัดรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตจนไม่สามารถทำอะไรได้แต่อย่างใด





“การที่ประเทศมีความมั่นคงในด้านต่างๆ ทั้งกายภาพและจิตใจ เด็กคนนี้น่าจะได้รับการหล่อหลอมถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูมาภายใต้การดำเนินการตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติที่น่าจะวางใจได้ว่าเมื่อเด็กคนนี้บรรลุนิติภาวะมีอายุ 20 ปี ก็ถึงวัยจะบวชเรียนก็บวชเรียนได้ ถ้าจะแต่งงานก็แต่งงานได้ ถ้าจะเรียนจบก็จบปริญญาตรีแล้ว ดังนั้น คนเหล่านั้นก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในสังคมต่อไป ก็กำหนดเอาเกณฑ์เวลา 20 ปี” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว



นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อยุทธศาสตร์ชาติยังบังคับใช้อยู่ ทุกคนทุกฝ่ายจะต้องปฏิบัติตาม แต่หากจะไม่ปฏิบัติตาม ก็ต้องแก้ไขหรือปรับปรุงยุทธศาสตร์ชาติก่อน ยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมดมี 6 ด้าน โดยประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติแล้วจะมีผล 5 ประการที่จะทำให้ยุทธศาสตร์ชาติได้รับการนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วย 1.ผูกมัดรัฐบาลในการที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาในเวลาจะเข้าปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งนโยบายดังกล่าวต้องไม่ขัดแย้งกับยุทธศาสตร์ชาติ 2.ผูกผันแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 3.การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนแห่งชาติ จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 4.การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากนี้ไป ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และ5.แผนการปฏิรูปประเทศ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ยุทธศาสตร์ชาติ วันนี้เสนอเข้ามายังสภาจำนวน 71 หน้าเท่านั้นและไม่มีรายละเอียดของโครงการ เราจะไม่พบว่ารถไฟความเร็วสูงยาวกี่กิโลเมตร สิ่งเหล่านี้ไม่ได้กำหนดไว้ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ เพราะต้องไปทำแผนแม่บทและแผนปฏิบัติการต่อไปกันอีกในอนาคต โดยแผนแม่บทจะต้องนำเสนอต่อสภาอีกครั้ง ดังนั้น ยังมีขั้นตอนที่ต้องทำงานต่อไปอีก ซึ่งคาดว่าแผนแม่บทน่าจะยกร่างแล้วเสร็จภายใน 2 เดือน

ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ที่มีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เมื่อรัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศก็จะเสนอโครงการใหม่ และยกเลิกโครงการเดิม ทำให้ไม่สามารถดำเนินการโครงการสำคัญๆต่อได้ ซึ่งก่อนที่รัฐบาลนี้จะเข้ามา พบว่า เศรษฐกิจของไทยโตเพียง ร้อยละ 1 ในขณะที่เพื่อนบ้าน โตร้อยละ 5-6 ปัจจัย ส่วนหนึ่งมาจากการเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้ไม่สามารถลงทุนในโครงการใหญ่ ๆ ได้ ซึ่งส่งผลต่อไปยังการส่งออก การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ทั้งนี้ในหลายประเทศก็มีการจัดทำแผนยุทธศาสตร์หรือแผนพัฒนาประเทศ เช่น ฝรั่งเศส ที่มีแผนพัฒนาประเทศ 10 ปี สิงคโปร์ 20ปี ขณะที่มาเลเซีย รวมถึงจีนก็มีแผนพัฒนาประเทศระยะยาว ดังนั้นการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ก็เพื่อให้ประเทศไทยได้มีความพร้อมสอดรับกับการแข่งขันกับประเทศต่างๆ และเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วในอีก 20 ปีข้างหน้า



จากนั้นที่ประชุมเปิดให้สมาชิก สนช.ได้อภิปรายแสดงความคิดเห็น โดย สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้ แต่เห็นว่ายังไม่มีตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ที่ชัดเจน และควรให้มีการบูรณาการการทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ชาติกับหน่วยงานราชการเพื่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ รวมทั้งบรรจุแผนยุทธศาสตร์ชาติ เข้าไปในแผนแม่บทด้วย โดยเฉพาะโครงการที่สำคัญๆ และควรสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนว่ายุทธศาสตร์ฉบับนี้เป็นของประชาชนทุกคน

ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้นลงกว่า 4ชั่วโมง ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ก่อนให้สภานิติบัญญัติ ให้ความเห็นชอบ จำนวน 38 คน กำหนดเวลาพิจารณาภายใน 22 วัน โดยมีการประชุมนัดแรก 15 มิ.ย. และเสนอกลับมาให้ สนช.ให้ความเห็นชอบภายในวันที่ 7 ก.ค.