รัฐบาลส่งเสริมการศึกษา เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน

2017-05-20 12:55:08

รัฐบาลส่งเสริมการศึกษา เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน

Advertisement

รัฐบาลส่งเสริมการศึกษา E to E เปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน เปิดพื้นที่ให้เด็กฝึกงานจากประสบการณ์จริง พร้อมพัฒนาครูผู้ช่วยที่ไม่มีวุฒิทางครูให้มีมาตรฐาน แก้ไขปัญหาขาดแคลนครูในสาขาที่สำคัญ


รัฐบาลส่งเสริมการศึกษาเพื่อการมีงานทำ (Education to Employment : E to E) ให้แก่เด็กนักเรียนไทยโดยเริ่มนำร่องกับนักเรียนอาชีวะตั้งแต่ช่วงปิดภาคเรียนที่ผ่านมา เพื่อฝึกทักษะการปฏิบัติจริงที่ไม่มีสอนในห้องเรียน รวมกว่า 2,500 หลักสูตร เช่น ซ่อมรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ เครื่องยนต์สปีดโบ้ท ช่างตรวจรอยร้าวอากาศยานโดยวิธีพิเศษ บัญชีสำหรับงานก่อสร้าง งานภาษี งานควบคุมคลังสินค้า การทำอาหารนานาชาติ มัคคุเทศก์ ติดตั้ง CCTV เป็นต้น
“โครงการดังกล่าวมีแนวคิด คือ การเปลี่ยนโรงงานเป็นโรงเรียน โดยให้เอกชนเป็นผู้นำและรัฐดูแลสนับสนุนตามแนวทางประชารัฐ มีบริษัทกว่า 1,500 แห่งให้ความสนใจเข้ามาร่วมจัดหลักสูตรให้แก่นักเรียนอาชีวะทั่วประเทศเป็นเวลา 2 เดือน มีนักเรียนสมัครเรียนถึง 82,000 คน เมื่อเรียนจบแล้วนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ และยังสามารถนำชั่วโมงเรียนหรือฝึกงานไปนับเป็นหน่วยกิตเพิ่มเติม รวมทั้งได้รับใบรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ( สอศ.) อีกด้วย ทั้งนี้ ศธ.จะขยายผลไปยังนักเรียนชั้น ม.3 เพื่อให้ทดลองฝึกงานจริงในสายอาชีพที่สนใจเป็นเวลา 2 สัปดาห์ในช่วงปิดภาคเรียนหน้า โดยให้สถาบันอาชีวะในพื้นที่ประสานกับทางจังหวัดจัดโครงการให้นักเรียนกลุ่มนี้ ซึ่งตรงกับนโยบายของนายกรัฐมนตรีที่ต้องการให้นักเรียนนักศึกษาเรียนรู้อย่างมีเป้าหมาย”
นอกจากนี้ จากการเปิดโอกาสให้ผู้ที่ไม่มีวุฒิทางครูสามารถสมัครสอบครูผู้ช่วย เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนครูในสาขาที่สำคัญ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และทดแทนอัตราครูที่จะเกษียณอายุราชการในอีก 10 ปีข้างหน้ากว่า 2.7 แสนคน จากจำนวนครู สพฐ.ทั้งหมดกว่า 4 แสนคนนั้น ปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจสมัครสอบและผ่านการคัดเลือกถึง 503 คน ซึ่งมีทั้งผู้ที่จบการศึกษาจากต่างประเทศ และประกอบอาชีพแล้ว เช่น วิศวกร ทันตแพทย์ ตำรวจ ฯลฯ แต่มีความตั้งใจอยากเป็นครู โดยหลายคนสามารถทำคะแนนสอบได้เป็นอันดับต้น ๆ ของผู้เข้าสอบทั้งหมดด้วย
ทั้งนี้ ครูผู้ช่วยที่ไม่มีวุฒิทางครูกลุ่มดังกล่าวถือเป็นเลือดใหม่ของ ศธ. โดยทาง สพฐ.จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายให้ทุกคนได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตวิชาชีพครูเป็นเวลา 2 ปี  และเมื่อจบการศึกษาแล้วสามารถบรรจุเป็นข้าราชการครูได้ โดยครูผู้สอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์นั้น จะได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นจากสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ส่วนครูผู้สอนภาษาอังกฤษจะได้เข้ารับการอบรม เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ณ ศูนย์อบรมระดับภูมิภาค จำนวน 18 แห่ง ที่โรงเรียนของตนตั้งอยู่ เช่นเดียวกับครูภาษาอังกฤษที่ ศธ.กำลังพัฒนาอย่างเข้มข้นในเวลานี้ด้วย เพื่อสร้างมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม


“ท่านนายกฯ ฝากให้กำลังใจบุคลากรของ ศธ. โดยเฉพาะครูผู้สอนให้มีกำลังกายและสติปัญญาปฏิบัติหน้าที่อย่างทุ่มเทเต็มที่ เพื่อพัฒนาเด็กและเยาวชนไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพและเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต”