ศาลสั่งจ่ายเพิ่มค่าชดเชยเผาบ้านกะเหรี่ยง

2018-06-12 14:00:40

ศาลสั่งจ่ายเพิ่มค่าชดเชยเผาบ้านกะเหรี่ยง

Advertisement

ศาลปกครองสูงสุดสั่งกรมอุทยานแห่งชาติชดเลยค่าสินไหมเผาบ้านกะเหรี่ยงแก่งกระจาน 5 หมื่นต่อราย

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาในคดีที่นายโคอิ หรือ คออี้ มิมิ กับพวกรวม 6 คน ชาวกะเหรี่ยงปกาเกอะญอที่อาศัยอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และพวกรวม 2 คน ให้ชดใช้ค่าเสียหายจากกรณีเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ รื้อถอนเผาทำลายสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินของผู้ฟ้องคดีทั้ง 6 ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน โดยมีคำพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้กรมอุทยานแห่งชาติฯชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีที่ 1,2,3 และ6 เป็นเงิน 51,407 บาทต่อราย ผู้ฟ้องคดีที่ 4 เป็นเงิน 45,302 บาท และผู้ฟ้องคดีที่ 5 เป็นเงิน 50,807 บาท ทั้งนี้หากผู้ฟ้องคดีรายใดได้รับค่าสินไหมทดแทนสำหรับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินกรณีนี้ไปแล้วให้หักออกจากค่าสินไหมทดแทนตามคำพิพากษานี้



ศาลปกครองสูงสุด ระบุว่า การใช้อำนาจตามมาตรา 22 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504 ของเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ในกรณีดังกล่าว แม้จะเป็นมาตรการหรือวิธีการที่มีผลทำให้การป้องกันและปราบปรามการบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติ แต่บทบัญญัติดังกล่าวไม่ได้ให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ในการจะเลือกใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามอำเภอใจหรือโดยพลการ กรณีเช่นนี้เจ้าหน้าที่สมควรต้องออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีจัดการกับสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินเสียก่อน และแม้ผู้ฟ้องคดีจะไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ก็ยังไม่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองดำเนินการเข้าทำลายหรือรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างได้ในทันที ยังต้องแจ้งคำเตือนเป็นหนังสือให้ผู้ฟ้องคดีกระทำการตามคำสั่งภายในระยะเวลาที่กำหนดตามสมควร พร้อมทั้งปิดประกาศคำสั่งแจ้งเตือนก่อน ดังนั้นการกระทำของเจ้าหน้ากรมอุทยานแห่งชาติฯ เป็นการใช้อำนาจเกินความจำเป็นไม่สมควรแก่เหตุ รวมถึงไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้ ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2553 เรื่องแนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีอันเป็นการกระทำละเมิด ซึ่งต้องรับผิดในผล แห่งละเมิดตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีเป็นค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่สิ่งของเครื่องใช้ในครัวเรือนทั้งหมดเป็นเงิน 5,000 บาท และค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับของใช้ส่วนตัวเป็นเงิน 5,000 บาท ส่วนกรณีค่าเสียหายอื่นๆศาลปกครองสูงสุดไม่ได้กำหนดค่าเสียหาย





ด้าน นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักงานบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 10 อุดรธานี อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ให้สัมภาษณ์ ว่า น้อมรับคำพิพากษาที่ให้จ่ายค่าชดเชยเพิ่มจากรายละหมื่นบาทเป็นห้าหมื่นบาทเศษ โดยในคำพิพากษาศาลเจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว แต่อาจมีความผิดพลาดในขั้นตอนปฏิบัติซึ่งถือเป็นบทเรียนให้เจ้าหน้าที่ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบต่อไป และคงไม่จำเป็นต้องขอโทษชาวปกาเกอะญอ เพราะเป็นผู้ที่บุกรุกผืนป่า และศาลปกครองสูงสุดก็ชี้ขาดแล้วว่าบุกรุกจริง ไม่ให้กลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมอีก