พบช่องดาวเทียมโฆษณาผลิตภัณฑ์ผิด ก.ม.อื้อ

2018-06-11 20:40:42

พบช่องดาวเทียมโฆษณาผลิตภัณฑ์ผิด ก.ม.อื้อ

Advertisement

กสทช. ร่วมกับ อย. ตรวจเข้มโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมาย ไม่พบทีวีดิจิทัลกระทำผิดเป็นสัปดาห์ที่สอง. แต่พบดาวเทียม 13 ช่องโฆษณาผิดกฎหมาย

เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. พล.ท.ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. พร้อมด้วย ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ร่วมกันแถลงข่าวระบุว่า ขณะนี้เริ่มมีสัญญาณที่ดีที่ไม่พบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายในช่องทีวีดิจิทัลต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่สอง หลังจากสำนักงาน กสทช. และ อย. ได้ทำงานเชิงรุกร่วมกันตั้งแต่วันที่ 4 พ.ค. 2561 โดยให้เจ้าหน้าที่ อย. ร่วมตรวจสอบเฝ้าระวังกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช.

นายฐากร กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 4-8 มิ.ย. 2561 ไม่พบช่องทีวีดิจิทัลที่กระทำผิด แต่ยังพบช่องโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมในช่องใหม่ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมาย จำนวน 13 ช่อง รวมทั้งสิ้น 9 ผลิตภัณฑ์ คือ 1. เครื่องดื่มรสสมุนไพรตรา เป่า ชุน ลู่ 2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เลือดจระเข้แคปซูล ตรา เฮลท์ ครอค 3. ผลิตภัณฑ์ เซนต์โปร แอร์ โทนิค เซรั่ม




4. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา แม็กม่า พลัส 5. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ตรา เกตุเพชร 6. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ชาผสมสุมนไพร ตรา เอสที โกลด์ 7.เครื่องสำอาง มาจีค ยูธฟูล เรเดียนซ์ เดย์ครีม 8. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร อัลติเมท คอลลาเจน และ 9. ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มรังนกสำเร็จรูป ตราบอนแบค

นายฐากร กล่าวต่อว่า ขณะที่สื่อวิทยุได้ดำเนินการไปแล้ว 1 สถานี และอยู่ระหว่างตรวจสอบสัปดาห์นี้ 6 สถานี ส่วนการโฆษณาผ่านเว็บไซต์พบว่ามีการกระทำผิดจำนวนทั้งสิ้น 50 URL โดยเป็นสินค้าที่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (เห็ดหลินจือ) ลดระดับน้ำตาล บำรุงหัวใจ ยาทำแท้ง ยาขับเลือด อาหารเสริม เพิ่มภูมิคุ้มกัน สร้างภูมิต้านทาน และผลิตภัณฑ์เสริมสมรรถภาพเพศชาย



“ระยะเวลา 2 สัปดาห์ต่อเนื่องที่ไม่พบช่องทีวีดิจิทัลโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางผิดกฎหมายนับเป็นสัญญาณที่ดีมากของการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักงาน กสทช. และ อย. ที่ตรวจเข้มเรื่องนี้ เพื่อดูแลประชาชนไม่ให้หลงเชื่อโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องสำอางเกินจริง ซึ่งเราจะมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง” นายฐากร กล่าว

ด้าน ภก.สมชาย ปรีชาทวีกิจ รองเลขาธิการ อย. เปิดเผยว่า ช่วงสัปดาห์นี้ ยังคงพบโฆษณาที่ผิดกฎหมายอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่โฆษณาว่าเป็นยารักษาโรค เช่น โรคโลหิตจาง โรคมะเร็ง โรคเกาต์ โรคสะเก็ดเงิน เบาหวาน เป็นต้น รวมถึงมุ่งหมายให้เกิดผลแก่สุขภาพ โครงสร้าง หรือการกระทำหน้าที่ของร่างกาย เช่น บำรุงผิว ผม เล็บ และโฆษณาเสริมสร้างสมรรถภาพทางเพศ ส่วนผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง มีการโฆษณาทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง เช่น โฆษณาว่าสามารถลดผมร่วง ทำให้ผมหนาขึ้น ลดอาการคันศีรษะ เป็นต้น ส่วนการโฆษณาผ่านเว็บไซต์พบโฆษณาขายยาทำแท้ง และเสริมสมรรถภาพทางเพศ ยาถือเป็นสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าทั่วไป ไม่อนุญาตให้ขายในเว็บไซต์ หรือนอกสถานที่ขายยาได้ โดยผู้ที่จะขายยาต้องมีใบอนุญาต ต้องจำหน่ายโดยเภสัชกรเท่านั้น การขายยาทางอินเทอร์เน็ต จึงเป็นการขายนอกสถานที่ที่อนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 10,000 บาท ส่วนการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท จึงขอเตือนประชาชน ไม่ควรซื้อยาตามอินเทอร์เน็ตหรือทางเว็บไซต์ต่าง ๆ เพราะเสี่ยงทั้งได้รับยาปลอม ยาไม่มีคุณภาพ หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา จนอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้