สุดเศร้า! ปลาพะยูนความยาวเกือบ 3 เมตร สัตว์ทะเลหายากของ จ.พังงาถูกคลื่นซัดขึ้นเกยตื้นชายหาดเกาะคอเขา เจ้าหน้าที่เร่งตรวจสอบซากและเก็บตัวอย่างหาสาเหตุการเสียชีวิต
เมื่อวันที่ 10 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ดาบตำรวจ อนันต์ รอดมินทร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ตะกั่วป่า สายตรวจเกาะคอเขา ได้รับแจ้งว่ามีชาวบ้านพบปลาพะยูน ถูกคลื่นซัดขึ้นมาเกยตื้นที่บริเวณซอยต้นโหนด หมู่ 3 บ้านปากเกาะ ต.เกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา จึงเดินทางไปตรวจสอบพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อบต.เกาะคอเขา กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุพบปลาพะยูนมีสภาพขึ้นอืด มีบาดแผลตามลำตัว ปลาพะยูนมีขนาดความยาวจากหัวถึงหางประมาณ 3 เมตร มีความกว้างประมาณ 90 เซนติเมตร เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ อบต.เกาะคอเขา ได้แจ้งให้ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาเก็บตัวอย่าง DNA เพื่อทำการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการเสียชีวิตแล้ว โดยทางเจ้าหน้าที่ทราบว่าพะยูน ตัวดังกล่าว จะอาศัยหากินบริเวณเกาะผ้าที่มีแหล่งหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นอาหารของปลาพะยูนไปทางทิศตะวันตกของเกาะคอเขา ประมาณ 3 กม. ส่วนสาเหตุของการเกยตื้นอาจเป็นเพราะคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรงสูง 2 – 3 เมตร ส่วนสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริงจะต้องรอผลพิสูจน์จากเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญต่อไป
ทั้งนี้ ปัจจุบันทางกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้สำรวจสถานการณ์ปลาพะยูนมี 1 ชนิด จำนวน 250 ตัว แหล่งประชากรใหญ่อยู่ฝั่งอ่าวไทย โดยเฉพาะเกาะลิบง จ.ตรัง จากการสำรวจปี 59 พบพะยูน 170 ตัว มีชนิดเดียวต้องอนุรักษ์ให้สำเร็จ พบสัตว์ทะเลหายากเกยตื้นเป็นซากพะยูน 85% เพราะเครื่องมือประมง ติดเศษอวน ถูกเอ็นรัดเนื้อตายและขาด แนวทางแก้ปัญหาต้องบริหารจัดการพื้นที่ทำประมงอย่างเหมาะสมและจัดทำเส้นทางวิ่งเรือช่วยสัตว์ทะเลหายากให้ปลอดภัย ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจะร่วมกับทุกภาคส่วนในการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อกิจกรรมหรือเครื่องมือประมงที่ส่งผลกระทบต่อสัตว์ทะเล