คนแห่ร่วมอำลา “ลิโด้” เป็นครั้งสุดท้าย...ลาก่อนโรงหนังที่รัก

2018-05-31 18:20:06

คนแห่ร่วมอำลา “ลิโด้” เป็นครั้งสุดท้าย...ลาก่อนโรงหนังที่รัก

Advertisement

หลังจากให้ความสุขกับคนรักหนังมายาวนานถึง 5 ทศวรรษเต็ม ก็ถึงคราวที่คนรักหนัง และแฟนคลับ “ลิโด้” ต่างมาร่วมอำลาโรงหนังแห่งความทรงจำแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย



ในที่สุดก็มาถึงวันสุดท้าย สำหรับ โรงภาพยนตร์ ลิโด้ หลังจากที่ให้ความสุขกับคนรักหนังมายาวนานถึง 5 ทศวรรษเต็ม โดยจะปิดตำนานโรงภาพยนตร์เก่าแก่ขวัญใจคอหนังทางเลือก ในวันที่ 31 พ.ค. โดยจัดฉายภาพยนตร์ 2 เรื่องสุดท้ายใน 2 รอบสุดท้ายของโรงภาพยนตร์เก่าแก่ขวัญใจคอหนังทางเลือก ในเรื่อง “Tonight At The Romance Theater รักเรา...จะพบกัน” รอบ 18.45 น. และ “Kids On The Slope รอบ 20.45 น. โดยมีคนรักหนัง และแฟนคลับ “ลิโด้” มาร่วมอำลาโรงหนังแห่งความทรงจำแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย












นับตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 31 พ.ค. มีคนรักหนังเดินทางมายังโรงภาพยนตร์ ลิโด้ กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมรำลึกความหลังความทรงจำโรงหนังที่รักที่เปิดให้บริการมาเป็นเวลา 50 ปีเต็ม จำนวนไม่น้อยต่างเอาตั๋วหนังรอบสุดท้ายมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกกัน ขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยที่ได้ฝากข้อความอำลาอาลัยบนบอร์ดแสดงความรู้สึกถึงโรงหนังแห่งนี้ก่อนที่ทุกอย่างจะเหลือเพียงความทรงจำตลอดไป









นอกจากนั้นยังมีคนดังอีกหลายรายที่ได้ร่วมรำลึกถึงโรงภาพยนตร์ ลิโด้ ผ่านโซเชียลมีเดียกันในวันสุดท้ายวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น ประภาส ชลศรานนท์ ที่โพสต์เล่าความหลังถึง “ลิโด้” แบบเรียบง่าย ทว่าเปี่ยมซึ่งความรู้สึกในเฟซบุ๊กเพจ “Prapas Cholsaranon”เอาไว้ว่า





“#ลาก่อนลิโด้

...

เมื่อครั้งวัยหนุ่ม สยามแสควร์เป็นที่ๆผมเตร็ดเตร่ใช้ชีวิตมากที่สุดที่หนึ่ง

ผมเรียนมัธยมปลายแถวๆนั้น



เรียนมหาวิทยาลัยแถวๆนั้น

รวมพรรครวมพวกไปซ้อมดนตรีตอน ม.4 ก็สยามแสควร์

จะดูหนังก็ลิโด้ สยาม สกาล่า

ซื้อเทปเพลงฟังก็ที่นั่น

ก๋วยเตี๋ยวเนื้อเกาหลา ลูกชิ้น ไอติม กาแฟ ก็ที่นั่น

ยังจำวันที่ร้านดังกิ้นโดนัทมาเปิดครั้งแรกในไทย แล้วพวกผมก็แห่จากกองกระดาษเขียนแบบไปนั่งเห่อแก้วกาแฟทรงสวยๆได้อยู่เลย

ละครถาปัดยุคที่ผมทำ ผมก็เขียนบทกันแถวๆสยามฯหลายครั้ง

เอ็มเค ร้านแรกที่สยามฯเมื่อครั้งยังไม่ได้ขายสุกี้ก็เป็นแหล่งนัดผมของพวกผม พี่แจ๊วเจ้าของร้านแกใจดีเหลือหลาย เดินเข้าไปในร้านถ้าไม่มีเพื่อนๆมา นั่งลงกินน้ำเปล่าที่โต๊ะไม่สั่งอะไรแกก็ไม่ว่าอันใด

ผมตั้งวงเฉลียงที่นั่น สยามสแควร์

แม้แต่ชื่อวง ผมก็เขียนลงบนสมุดที่ร้านก๋วยเตี๋ยวรสดีเด็ดตรงข้างๆคณะเภสัช

คณะแสดงละครสั้นชื่อปั้นจั่นสำอางค์ก็รวมพลที่สยามแสควร์บ่อยๆ บางทีก็ซ้อมบทปากเปล่าที่นั่น

ดอกหญ้า ดวงกมล ร้านหนังสือที่ผมเข้าไปใช้เวลาได้ทั้งวันอย่างไม่เคยเมื่อยขา

แม้แต่ขอชื่อสุธีสามสี่ชาติก็เกิดแถวๆสยามสแควร์



ลิโด้ โรงหนังที่เป็นเหมือนโรงเรียนอีกหลังของผม ได้โบกมืออำลาพวกเราไปอีกโรงหนึ่งแล้ววันนี้

นอกจากกล่าวคำอำลาแล้ว ผมคงต้องกล่าวคำขอบคุณด้วย

เพราะที่นั่นเป็นอีกที่หนึ่งที่ทำให้ผมได้ศึกษางานศิลปะอันหลากหลาย

ตั๋วใบละ20บาท แถวหน้าสุดคือเป้าหมายของคนหนุ่มพวกนี้ ปินดา โพสยะ นิติพงษ์ ห่อนาค วัชระ ปานเอี่ยม ศรัณยู วงศ์วงศ์กระจ่าง ฯลฯ

ที่ต้องเลือกแถวหน้าสุด ก็เพราะกระเป๋าสะพายใบใหญ่ๆของพวกเราที่ใส่สัมภาระอะไรอยู่ตลอดเวลา จะได้มีพื้นที่ว่างๆข้างหน้าไว้วาง

สถิติที่พวกเราเคยทำมากที่สุดในการดูหนัง คือสามโรงรวด

ดูไล่มาตั้งแต่สกาล่า สยาม และจบวันนั้นด้วยลิโด้

ผมผูกพันกับสยามแสควร์แค่ไหนไม่รู้ รู้แต่ว่าแม้แต่จะขอสาวเป็นแฟน ผมก็ขอที่สยามแสควร์ และจัดงานแต่งงานกันที่โรงแรมสยามอินเตอร์คอนฯ(ปัจจุบันคือห้างพารากอน)

เพลงนี้น่าจะเป็นเพลงที่ผมแต่งเกี่ยวกับสถานที่เพลงเดียวในชีวิต

แต่งไม่กี่ปีนี้เองครับ แต่งในคราวที่กลับไปเดินเล่นอีกครั้งในวัยที่มีรอยย่นบนใบหน้าเป็นเครื่องประดับแล้ว

"... มีเรื่องราวให้ฟังตั้งแต่เด็กจนแก่ สยามแสควร์ของเรา"

https://www.youtube.com/watch?v=lsYwL3das6o”



ขณะที่นักเขียน 2 รางวัลซีไรต์อย่าง “วินทร์ เลียววาริณ” ก็ได้ถ่ายทอดความรู้สึกถึงการจากไปของโรงภาพยนตร์ลิโด้ในเฟซบุ๊กแฟนเพจของเขาเช่นเดียวกัน โดยระบุว่า ไม่ว่าอย่างไร “ลิโด้” ก็จะยังเป็นจุดศูนย์กลางของดาราจักรสำหรับตัวเขาเสมอ

“วันนี้เป็นวันสิ้นลมหายใจของโรงหนังลิโด

สรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยง โรงหนังต่อให้รุ่งเรืองเพียงใด ก็มีวันตาย

ผมรู้จักลิโดครั้งแรกเมื่อเข้ากรุงเทพฯครั้งแรกในปี พ.ศ. 2516 แต่ไม่เคยดูเลยจนพ้นปี 2518 ช่วงสองปีนั้นผมเรียนหนังสือเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยแบบเข้มข้น จนเมื่อสอบเข้าได้แล้ว จึงเริ่มหลงระเริงไปดูหนังเป็นการใหญ่ และลิโดเป็นหนึ่งในโรงหนังในดวงใจของผม

เวลานั้น สกาลา ลิโด สยาม จัดเป็นจุดศูนย์กลางของดาราจักร ทั้งสามเป็นโรงหนังระดับคุณภาพ จอกว้างใหญ่ ค่าตั๋วสองแถวหน้า 10 บาท จึงเป็นที่สถิตของผม เพราะไม่มีเงินดูหนังราคาแพงกว่านั้น

จุดดีก็คือเวทีที่ลาดขึ้นจากพื้น ทำให้การดูหนังสองแถวหน้าไม่ทรมาน ไม่ถูกขอบเวทีบังเหมือนโรงหนังอื่นๆ เป็นโรงหนังที่ไม่เอาเปรียบคนดู

สยามเป็นโรงหนังแห่งแรกในเมืองไทยที่มีบันไดเลื่อนและฉายเฉพาะหนังไทย ลิโดกับสกาลาฉายหนังฝรั่ง (แต่ก็มีข้อยกเว้นอยู่บ้าง เช่น ครั้งหนึ่งสกาลาฉายหนังจีนเรื่อง ไอ้หนุ่มพันมือ ภาคสอง และสยามฉายหนังญี่ปุ่นเรื่อง เจ็ดเซียนซามูไร) เวลานั้นโรงหนังแต่ละโรงมักมีจุดขายค่อนข้างชัด โรงที่ฉายหนังฝรั่งมักไม่ฉายหนังไทย



ลิโดคือที่ดูหนังเรื่อง Harry & Walter Go to New York, Silver Streak (ยีน ไวล์เดอร์ กับ ริชาร์ด ไพรเออร์) The Mechanic (ชาร์ลส์ บรอนสัน) และอีกนับไม่ถ้วน

ตอนที่ลิโดเกิดไฟไหม้ เราก็เจ็บปวด แต่โชคดีที่มันยังไม่ตาย ฟื้นใหม่เป็นโรงหนังย่อยถึงสามโรง เสียมนตร์เสน่ห์แบบเดิมไป แต่ก็ดีกว่าหายไปตลอดกาล และเมื่อโรงหนังสยามตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงถูกเผาราบ หัวใจของคนรักสามโรงหนังนี้รวดร้าว พูดอะไรไม่ออก

วันนี้ลิโดจะหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ไปตลอดกาล

ทว่าความทรงจำยังดำรงอยู่ครบถ้วน

ขอบคุณ ลิโด เธอเป็นที่กำเนิดความฝันมากมายของฉัน

สำหรับฉัน เธอยังเป็นจุดศูนย์กลางของดาราจักรเสมอ”





ลาก่อนโรงหนังที่รัก...เราจะคิดถึงเธอเสมอ