เที่ยวมั้ยยู ? เชิญชมนิทรรศการก้าวข้ามเรื่องเพศสภาพ

2018-05-31 14:30:38

เที่ยวมั้ยยู ? เชิญชมนิทรรศการก้าวข้ามเรื่องเพศสภาพ

Advertisement



นิทรรศการใหม่ล่าสุดจากมิวเซียมสยามชวนสังคมให้หันมามองความหลากหลายทางเพศสภาวะและเพศวิถีผ่านหลักฐานการมีอยู่ของเพศอื่นๆ ที่มากกว่าหญิงและชายในประวัติศาสตร์ไทยตั้งแต่สมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน โดยให้ผู้ชมได้เดินผ่านเขาวงกตแห่งเพศ ที่สะท้อนค่านิยมเรื่องเพศในสังคมไทยออกมาอย่างตรงตัว จากนั้นจึงชวนมาตั้งคำถามว่าเราเข้าใจเพศในตัวของเราเองหรือไม่ ซึ่งคำตอบอาจไม่ได้มีหนึ่งเดียวเสมอไป





เมื่ออาทิตย์ก่อนมีนิทรรศการเปิดใหม่ ใช้ชื่อว่า  “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : Gender Illumination” จัดดีๆ ที่มิวเซียมสยาม (Museum Siam) เป็นนิทรรศการที่ว่าด้วยเรื่องความหลากหลายทางเพศ เพื่อให้ผู้คนเข้าใจในความแตกต่าง และยอมรับในความหลากหลายทางเพศมากขึ้น





ก็เลยคิดว่าคงไม่อินกับนิทรรศการนี้เท่าไหร่ เพราะเราไม่เคยแบ่งแยกพวกเขาตั้งแต่ต้น และคิดว่าน่าจะเหมาะกับคนที่อยากทำความเข้าใจเรื่องเพศ หรือพวกที่ชอบเหยียดเพศอะไรประมาณนี้ซะมากกว่า



ดังนั้นแว็บแรกที่มาก็คิดแค่ว่ามาเดินเล่น ชมงานศิลป์เก๋ๆ แต่หลังจากที่เดินเข้ามาอย่างงงๆ ก็ต้องเปลี่ยนความคิดในทันที ถึงกับต้องร้องอุทานว่า เอ้ยแกร! นี่เป็นนิทรรศการที่ดีมากก สนุกมากกก ตื่นตาตื่นใจเหมือนกับกำลังดูหนังสั้นที่แต่ละเรื่องนั้นแปลกใหม่ ไม่เคยเห็นมาก่อนยังไงยังงั้น และที่สำคัญมันทำให้เราได้คิดและมีมุมมองต่อเพศที่สาม ที่สี่เพิ่มขึ้น จากที่คิดว่าเราเข้าใจมากแล้ว ก็รู้สึกว่า เออ จริงๆ มันยังมีอะไรอีกหลายเรื่องที่เราเข้าใจผิดมาโดนตลอดนะ คือมันดีจนอยากแนะนำให้ไปดูจริงๆ





ซึ่งในงานนิทรรศการจำลองห้องโถงให้เป็นทางเดินสีรุ้งสองชั้นให้เราเดินชมกันเรื่อยๆ เพลินๆ โดยจะมีสิ่งของเครื่องใช้ ที่รวบรวมมาจากบุคคลต่างๆ หลายเพศหลายวัยเพื่อมาจัดแสดง ประเด็นคือสิ่งของที่เราเห็นนั้นไม่ใช่สิ่งของธรรมดานะ เพราะทุกชิ้นมีเรื่องราวและประวัติความเป็นมาที่เจ้าของต้องการจะสื่อได้อย่างน่าสนใจมาก ใครที่กลัวว่าจะเข้าไม่ถึงเพราะเป็นงานศิลป์ งานอาร์ตที่เข้าใจยากหรือเปล่านั้น บอกเลยว่าไม่ต้องห่วง เพราะเขามาข้อความสั้นๆ บรรยายประกอบ เล่าเรื่องราวให้เราเข้าใจไปด้วย



ความสนุกอยู่ตรงที่แต่ละชั้นมันมีทั้งความบันเทิง ดราม่า และสะเทือนใจหนักมากซ่อนอยู่ อย่างที่บอกไปตอนแรกว่ามันเหมือนเรากำลังอ่านนิยาย หรือดูหนังสั้นก็คงไม่ผิด





บางชิ้นนี่เต็มไปด้วยความเจ็บปวดที่ได้รับจากครอบครัว จากสังคม และคนรอบข้าง บางชิ้นก็เล่าไปถึงว่ากว่าที่ชีวิตของพวกเขาจะได้รับการยอมรับนั้นต้องผ่านอุปสรรคอะไรมาบ้าง แต่ใช่ว่าจะมีแต่เรื่องราวสะเทือนใจนะ ยังมีมุมโรแมนติกที่อ่านแล้วทำให้เราเชื่อในความรักว่ามันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคนจริงๆ ไม่ใช่แค่ผู้ชายหรือผู้หญิงเท่านั้น



ถือเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่เราเชื่อว่าจะทำให้ทุกคนเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนความเข้าใจเรื่องเพศไปจนหมดสิ้นเลย  เอาเป็นว่าว่างๆ ก็ไปดูได้ เพราะงานนี้ฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย และวันนี้เราก็มีภาพบางส่วนจากนิทรรศการนี้มาฝากกันด้วย คืออยากให้ดูภาพและอ่านแคปชั่นตามไปด้วยนะ จะอินมากกก จะน่าตื่นตา ตื่นใจ สักแค่ไหน ไปชมพร้อมๆ กันเลย





กฎหมายตรา 3 ดวง
ในอดีตมีการใช้กฎหมายตรา 3 ดวง จำกัดสิทธิของเพศที่สาม หรือกะเทย ว่าไม่เป็นสามารถเป็นพยานในศาลได้



คลี่ปมเพศ จากคดีฆาตกรรม
เริ่มมีการใช้คำว่า “เกย์” ในประเทศไทย หลังจากเกิดคดีฆาตกรรม ดาเรล เบอริแกน คลี อดีตเจ้าหน้าที่ราชการลับ CIA, บก. บางกอกเวิลด์ ตีแผ่ในหนังสือพิมพ์หลายฉบับช่วง พ.ศ. 2506 นำไปสู่การจับกุม แอ็ด โบว์ลิ่ง “กะเทยหนุ่ม” ที่ขายบริการทางเพศให้แก่เบอริแกนก่อนเสียชีวิต แต่พฤติกรรมของลักษณะของแอ็ด โบว์ลิ่ง แตกต่างจากกะเทยที่หลายคนเข้าใจมาก่อน เพราะเขาเหมือนเด็กหนุ่มธรรมดาไม่ได้ออกลักษณะท่าทางแบบกะเทย จึงมีการใช้คำว่า “เกย์” ในประเทศไทยขึ้นเพื่อเอาไว้ใช้เรียกผู้ชายที่มีคู่ขาเป็นเพศเดียวกัน



ลิปสติกเจ้าปัญหา?
พ.ศ. 2558 เคท ครั้งพิบูลย์ โพสต์รูปลิปสติกแท่งนี้ลงโซเชียล ทำให้ทางมหาวิทยาลัยปฏิเสธที่จะรับเธอเป็นอาจารย์ เธอจึงฟ้องศาลปกครอง ซึ่งต่อมาศาลได้ถอนคำสั่ง หลังพิเคราะห์ว่าไม่ใช่พฤติกรรมร้ายแรง และไม่มีผลต่อการปฏิบัติหน้าที่



ผู้หญิงคนนั้นในผ้าขนหนู
ผ้าโพกหัวมาพร้อมจินตนาการ ผมสวยหนา ยาวดั่งผมศิลปิน นางแบบตามสื่อและตามความงามที่เราพบเห็น เป็นความทรงจำช่วงวัยเด็กที่ยังโลดเล่นอยู่ในปัจจุบัน
โดยคุณชัชวาล เที่ยงเจริญ



แมลงรักในสวนหลังบ้าน
เสื้อยืดธรรมดาๆ ตัวนี้ เปลี่ยนชีวิตฉันเมื่อ 10 ปีก่อน ฉันเคยยื่นให้หลานชายใส่ เขาบอกว่า “เขาไม่ใส่เสื้อผ้าตุ๊ด” ฉันเสียใจมาก และตั้งคำถามกับโลกใบนี้ว่า โลกใบนี้ทำอะไรกับความเข้าใจมนุษย์อย่างหลานตัวน้อยของฉัน? แล้วฉันก็ลงมือเขียนบทหนังยาวเรื่องแรกในชีวิต “แมลงรักในสวนหลังบ้าน”
โดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์



ปริญญาที่ไร้ค่า
ฉันไปสัมภาษณ์งานหลายที่ บางที่บอกว่าถ้ารู้ว่าแอบก็จะไม่รับ เป็นความผิดที่ฉันเป็นกะเทยเหรอ บางทีปริญญาแทบจะไม่มีความหมายเลยถ้าคนยังตีตรากันด้วยเพศ
โดย ฤทธิเกียรติ นาชัยฤทธิ์



นิทรรศการ “ชาย หญิง สิ่งสมมุติ : ว่าด้วยความหลากหลายและความลื่นไหลทางเพศ”
เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม – 30 กันยายน 2561 *ไม่เสียค่าเข้าชม
ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ (ปิดทุกวันจันทร์) เวลา 10.00 – 18.00 น.
ติดต่อขอเข้าชมเป็นหมู่คณะได้ที่ 02-225-2777 ต่อ 411