สนช.ยันพิจารณากฎหมายรอบคอบ

2017-05-17 14:55:08

สนช.ยันพิจารณากฎหมายรอบคอบ

Advertisement

สนช.ยืนยันการพิจารณากฎหมายจะทำอย่างรอบคอบ และมีการส่งให้หน่วยงานต่างๆไปรับฟังความเห็นเพิ่มเติม ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญแล้ว พร้อมระบุว่า ในเดือนมิถุนายนนี้ คาดว่าจะมีการพิจารณากฎหมายที่สำคัญหลายฉบับ



นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. แถลงถึงกรณีการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะเข้าสู่ สนช.ว่า ขณะนี้ยังไม่มีร่างกฎหมายใดเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.เนื่องจากรัฐธรรมนูญกำหนดให้ต้องรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านพร้อมทั้งกำหนดให้ประเมินความคิดเห็นที่ได้รับอย่างเป็นระบบเพื่อนำเสนอต่อประชาชน ดังนั้นร่างกฎหมายที่ค้างอยู่ใน ชั้นกรรมาธิการของ สนช.จึงต้องส่งกลับไปยังหน่วยงานที่เสนอร่างกฎหมายเหล่านั้น เพื่อให้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 - 2 เดือนในการดำเนินการ ก่อนเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ วาระ 3 ช่วงต้นเดือนมิถุนายนนี้ส่วนร่างกฎหมายใหม่ที่จะมีการเสนอไปยังคณะรัฐมนตรี ต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญอย่างรอบด้านเช่นกัน ซึ่งต้นเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าจะมีการส่งร่างกฎหมายมายัง สนช.จำนวนมาก โดยเรื่องแรกที่จะเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.ก็คือ ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2561 ทำให้อาจจะต้องกำหนดวันประชุม สนช.เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้การทำงานของ สนช.เปรียบเสมือนโรงพยาบาล ถ้าคนไข้ไม่มาก็เปิดวันทำการน้อย  ถ้าคนไข้มามากก็ต้องเปิดวันเวลาทำการมากขึ้น ดังนั้นหากไม่มีร่างกฎหมายเข้ามา    สนช.ก็กำหนดวันประชุมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง    ขณะเดียวกัน การพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.จะส่งมาให้ สนช.พิจารณาเดือนละ 1 ฉบับนั้น คาดว่าปลายเดือนพฤษภาคมนี้ กรธ.จะส่งร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มาให้วิป สนช.พิจารณาบรรจุเข้าเป็นระเบียบวาระการประชุมต่อไป ส่วนการพิจารณาร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวกับวิธีการปฏิรูปประเทศ และ ยุทธศาสตร์ชาติ ยืนยันว่า สามารถดำเนินได้ทันตามกรอบเวลา 120 วันแน่นอน เบื้องต้นกำหนดการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 วันที่ 9 มิถุนายนนี้ ขณะเดียวกันกำหนดการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในวาระ 2 และ 3 วันที่ 15 มิถุนายนนี้ จึงมีร่างกฎหมายจำนวนมากที่เข้ามาสู่การพิจารณาของ สนช.แต่มีร่างกฎหมายส่วนหนึ่งที่เสนอโดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.ซึ่งเป็นวาระการปฎิรูปเร่งด่วน ทำให้ สปท.มีความกังวลว่าจะไม่ถูกผลักดันออกมาเป็นกฎหมาย จึงเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ผลักดันออกเป็นกฎหมายนั้น



 ส่วนตัวมองว่า ร่างกฎหมายที่เสนอโดย สปท.ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการปฏิรูปและเห็นว่ามีความจำต้องมีกฎหมายในบาลเรื่อง เช่น กฎหมายควบคุมสื่อ ดังนั้นการที่สปท.เสนอร่างกฎหมายมาในห่วงเวลานี้จะต้องดำเนินการรับฟังความคิดเห็นตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นตรงกับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมายที่ออกมาพูดเรื่องดังกล่าวว่า จะต้องดูว่าร่างกฎหมายที่เสนอมานั้นเป็นเรื่องอะไร และเป็นไปไม่ได้ที่จะใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายที่ สปท.เสนอมาทั้ง 36 ฉบับ ทั้งนี้ สนช.ยังมีเวลาในการทำงานอีก 1 ปี ก็สามารถที่จะช่วยงานของ สปท.ได้ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44

พร้อมยืนยันไม่มีการเสพติดมาตรา 44 และกรณีดังกล่าวไม่ใช่เรื่องที่จะต้องวิพากษ์วิจารณ์แต่อย่างใด แต่เป็นเพียงความประสงค์ของคนที่อยากออกกฎหมาย และในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ซึ่งมีบทบาทสำคัญในเรื่องดังกล่าว จะมีการระมัดระวังเรื่องการใช้มาตรา 44 ซึ่งที่ผ่านมาจะใช้มาตรา 44 ก็ต่อเมื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  แก้ไขในสิ่งที่กฎหมายปกติทำไม่ได้เท่านั้น