ยึด "กล้วยไม้" ลักลอบส่งนอกกว่า 6,600 ต้น

2018-05-30 12:05:34

ยึด "กล้วยไม้" ลักลอบส่งนอกกว่า 6,600 ต้น

Advertisement

ศุลกากรหนองคาย ยึดกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ มากกว่า 6 พันต้น มูลค่ากว่า 6 แสนบาทพยายามลักลอบส่งออกต่างประเทศข้ามด่านพรมแดน ตรวจสอบสายพันธุ์หากเป็นกล้วยไม้ป่า มีความผิดตามบัญชีไซเตส แต่หากเป็นกล้วยไม้เลี้ยงหรือลูกผสมส่งออกได้แต่ต้องขออนุญาต

เมื่อวันที่ 30 พ.ค. ที่ลานเอนกประสงค์บ้านพักด่านศุลกากรหนองคาย นายนิมิตร แสงอำไพ นายด่านศุลกากรหนองคาย พร้อมเจ้าหน้าที่ศุลกากร เจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษที่ 5 ประจำสำนักงานสนับสนุนการป้องกันปราบปรามที่ 2 (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) (สปป.2) และด่านตรวจพืชหนองคาย ร่วมกันแถลงข่าวการตรวจยึดกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ แยกเป็นสายพันธุ์แวนด้า 2,935 ต้น, สายพันธุ์หวาย 1,450 ต้น,สายพันธุ์แกรมมาโต 300 ต้น, สายพันธุ์แปรงสีฟัน สายพันธุ์ช้างปรับปรุงสายพันธุ์ 1,135 ต้น นอกจากนี้ยังมีต้นพันธุ์ทับทิม 161 ต้น ลำไย 31 ต้น รวมทั้งสิ้น 6,611 ต้น พร้อมด้วยฮอร์โมนบำรุงดอก 50 ชุด มูลค่าทั้งหมดประมาณ 6 แสนบาท

นายนิมิตร แสงอำไพ นายด่านศุลกากรหนองคาย กล่าวว่า การตรวจยึดครั้งนี้เกิดขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่ตามปกติบริเวณด่านพรมแดนสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อ.เมืองหนองคาย ได้พบลังกระดาษจำนวนมากวางปะปนอยู่กับกล่องสินค้าอุปโภคบริโภคในรถโดยสารข้ามสะพานที่กำลังจะเดินทางออกนอกประเทศ สอบถามไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของ จึงตรวจสอบพบว่าเป็นกล้วยไม้หลายสายพันธุ์ ซึ่งการส่งออกกล้วยไม้สามารถกระทำได้ แต่ต้องเป็นกล้วยไม้เลี้ยงและต้องขออนุญาตส่งออกกับเจ้าหน้าที่ให้ถูกต้องตามกฎหมาย




แต่ในกรณีนี้เป็นการลักลอบส่งออกนอกราชอาณาจักรโดยไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากร โดยจะทำการตรวจพิสูจน์ว่าเป็นกล้วยไม้ประเภทใดบ้าง หากเป็นกล้วยไม้ป่า ก็เป็นการกระทำผิดตามบัญชีไซเตส ต้องส่งมอบให้เจ้าหน้าที่กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืชไปดำเนินการ แต่หากเป็นกล้วยไม้เลี้ยงหรือกล้วยไม้ลูกผสม คือการนำกล้วยไม้ป่ามาเลี้ยงจนกลายพันธุ์เป็นกล้วยไม้เลี้ยง เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะทำการยึด อาจนำไปประมูลต่อเมื่อคดีสิ้นสุดนำเงินเข้าประเทศ ส่วนต้นพันธุ์ลำไย ที่ตรวจยึดได้ด้วยนั้น เป็นการดำเนินการตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่องกำหนดชนิดและชื่อพันธุ์ของพืชให้เป็นพืชสงวน ตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช พ.ศ.2518 ซึ่งลำไยเป็นพืชสงวนตามบัญชีดังกล่าว เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่ขยายพันธุ์ในต่างประเทศ กลายเป็นคู่แข่งกับผลไม้ในไทย