โพลชี้คนดังโฆษณาสินค้าน่าเชื่อถือจูงใจซื้อ

2018-05-27 08:25:47

โพลชี้คนดังโฆษณาสินค้าน่าเชื่อถือจูงใจซื้อ

Advertisement

“นิด้าโพล”เผยการให้บุคคลมีชื่อเสียงโฆษณาขายสินค้า มีส่วนช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์ดูมีความน่าเชื่อถือและตัดสินใจซื้อง่ายขึ้น เพราะเป็นที่ยอมรับ ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก ทำให้เกิดแรงจูงใจ และความมั่นใจ

เมื่อวันที่ 27 พ.ค. “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเครื่องหมาย อย.” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 21 – 22 พ.ค. 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 1,251 ตัวอย่าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 71.78 ระบุว่า อ่านเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของ อย. ในการเลือกซื้อสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ รองลงมา ร้อยละ 27.98 ระบุว่า ไม่อ่านเครื่องหมายการรับรองมาตรฐานความปลอดภัยของ อย. และร้อยละ 0.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความเชื่อมั่นในมาตรฐานความปลอดภัยของ อย. หลังจากที่มีกระแสข่าวการจับกุมผลิตภัณฑ์ที่มีการสวมเลขทะเบียน อย. รวมถึง การใช้เครื่องหมาย อย. ปลอมจำนวนมาก พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.12 ระบุว่า มีความเชื่อมั่น เพราะ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)เป็นองค์กรที่มีมาตรฐานในการตรวจสอบความปลอดภัย เชื่อถือได้ มีการจัดตั้งมานานแล้ว ขณะที่บางส่วนระบุว่า ปัญหาเกิดจากผู้ประกอบการ อย. ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง รองลงมา ร้อยละ 42.21 ระบุว่า ไม่มีความเชื่อมั่น เพราะ อย. ขาดความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้า และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ




สำหรับระดับความรุนแรงของปัญหาเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยของผู้บริโภคในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ พบว่า ประชาชน ร้อยละ 25.90 ระบุว่า เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงมาก ร้อยละ 44.60 ระบุว่า เป็นปัญหาที่ค่อนข้างมีความรุนแรง ร้อยละ 25.90 ระบุว่า เป็นปัญหาที่ ไม่ค่อยมีความรุนแรง ร้อยละ 2.16 ระบุว่า เป็นปัญหาที่ไม่มีความรุนแรงเลย และร้อยละ 1.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงการที่ให้บุคคลที่มีชื่อเสียงมาโฆษณาขายสินค้า มีส่วนช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นดูมีความน่าเชื่อถือและตัดสินใจซื้อง่ายขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 65.71 ระบุว่า มีส่วนช่วย เพราะ เป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ทำให้ผลิตภัณฑ์เป็นที่รู้จัก มีความน่าเชื่อถือ ทำให้เกิดแรงจูงใจ และความมั่นใจในการเลือกซื้อ รองลงมา ร้อยละ 32.93 ระบุว่า ไม่มีส่วนช่วย เพราะ ขึ้นอยู่กับคุณภาพ ราคา ความพึงพอใจ ความต้องการของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อ ขณะที่บางส่วนระบุว่า มุ่งเน้นที่เครื่องหมาย อย. มากกว่า และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ



​ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงแนวทางในการแก้ปัญหาการคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.20 ระบุว่า เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบทั้ง ก่อน – หลัง กับสินค้าที่ได้รับเครื่องหมาย อย. รองลงมา ร้อยละ 34.05 ระบุว่า เพิ่มบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับผู้กระทำผิด ร้อยละ 33.89 ระบุว่า เพิ่มหน่วยงานของภาครัฐเข้ามากำกับดูแลการคุ้มครองผู้บริโภค ร้อยละ 32.37 ระบุว่า เพิ่มมาตรการควบคุมการโฆษณาที่เกินจริงรวมถึงการใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงในการโฆษณา ร้อยละ 27.10 ระบุว่า เพิ่มบุคลากรให้เพียงพอต่อการตรวจสอบมาตรฐานของสินค้า ร้อยละ 0.80 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เพิ่มช่องทางในการตรวจสอบเลข อย. เช่น มีแอปพลิเคชันสำหรับตรวจสอบเลข อย. ขณะที่บางส่วนระบุว่า ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ และร้อยละ 2.24 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ​