108 ปัญหากับหมอรามาฯ : มะเร็งกระเพาะอาหารสำคัญแค่ไหน

2018-05-24 15:10:43

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : มะเร็งกระเพาะอาหารสำคัญแค่ไหน

Advertisement

หากกล่าวถึงโรคกระเพาะอาหาร หลายคนคงคิดว่าแค่กินยาสักอาทิตย์ หรือปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตเช่น งดอาหารบางอย่าง หรือกินอาหารให้ตรงเวลาก็จะทำให้อาการต่าง ๆ หายไป แต่หากกล่าวถึงโรคมะเร็งความคิดหรือความกังวลก็จะเกิดขึ้นมาทันที แตกต่างจากการคิดถึงโรคกระเพาะทั่วไป ในความเป็นจริงมะเร็งกระเพาะอาหารในประเทศไทยนั้นพบได้ไม่มากเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่น ๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งลำไส้ใหญ่


ภาพ PhotoMediaGroup / Shutterstock.com



แต่ในความเป็นจริงนั้นพบว่า ค่อนข้างมีความยากลำบากในการรักษา เพราะไม่ว่าผู้ป่วยจะเป็นมะเร็งชนิดไหนหรือจะรักษาด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม สิ่งแรกที่จะมีผลต่อการรักษาก็คือความแข็งแรงของผู้ป่วยว่า มีความแข็งแรงมากพอที่จะทนต่อการรักษารูปแบบต่าง ๆ จนครบตลอดรอดฝั่งหรือไม่ ซึ่งกระเพาะเป็นอวัยวะที่รองรับอาหารอวัยวะแรกของร่างกายที่ย่อยอาหารส่งพลังงานไปยังส่วนต่าง ๆ นั่นก็คือถ้ากระเพาะอาหารเสียไปไม่สามารถทำงานได้ ผู้ป่วยก็จะขาดอาหารทำให้ไม่สามารถทนกับการรักษาแบบต่าง ๆ ได้จนครบและทำให้ผลการรักษาแย่ลง นอกจากนี้ผู้ป่วยส่วนมากที่มาตรวจก็มักจะมาพบแพทย์ในตอนที่ตนเองมีอาการเยอะมากแล้ว นั่นคือ กินไม่ได้มีอาเจียนหลังกิน เป็นต้น


ภาพ Andrey_Popov / Shutterstock.com



สำหรับการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารนั้นเกิดได้จากสองกระบวนการหลัก อย่างแรกคือ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงตามกระบวนการอักเสบของกระเพาะอาหารแล้วเรื้อรังจนเยื่อบุกระเพาะอาหารกลายเป็นมะเร็งซึ่งกระบวนการนี้จะมีเชื้อแบคทีเรียตัวหนึ่งที่ชื่อว่า Helicobacter pylori (H. Pylori, เอชไพโลไร) เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้กระบวนการอักเสบไม่หายและนำไปสู่การเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร ดังนั้น การรักษาอาการอักเสบเรื้อรังร่วมกับกำจัดเชื้อโรคตัวนี้จึงอาจมีผลป้องกันการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหารได้ในอนาคต แต่ปัญหาก็คือการติดเชื้อนี้นั้นแม้ว่ารักษาหายแล้วก็มีโอกาสติดซ้ำได้ เนื่องจากเป็นเชื้อโรคที่ปะปนมากับอาหาร ดังนั้นในคนไข้ที่แม้ว่าจะรักษาหายแล้วก็ต้องเฝ้าระวังการติดเชื้อซ้ำ กลไกการเกิดอีกแบบคือเกิดจากการที่ผู้ป่วยมีความผิดปกติทางพันธุกรรมตั้งแต่กำเนิด แล้วทำให้กระบวนการเกิดมะเร็งเกิดขึ้นได้เร็วกว่าปกติ ซึ่งแม้ว่าเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถจะป้องกันได้แต่เราก็สามารถจะเฝ้าระวังได้



มะเร็งกระเพาะอาหารจะพัฒนาและแพร่กระจายได้รวดเร็วกว่ามะเร็งลำไส้ใหญ่ที่สำคัญการตอบสนองต่อยาเคมีไม่ค่อยดีซึ่งถ้าตรวจพบผู้ป่วยในระยะท้าย ผู้ป่วยอาจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนักแม้ว่าจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ถ้าหากตรวจพบในระยะแรกการรักษาก็สามารถหวังผลให้หายขาดได้ ในประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศที่พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารมาก จะแนะนำให้ประชาชนทุกคนเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหารตั้งแต่อายุ 50 ปีขึ้นไป ไม่ว่าคนนั้นจะมีหรือไม่มีอาการทางกระเพาะอาหารก็ตาม




ภาพ Atstock Productions / Shutterstock.com

สำหรับการรักษานั้นมีหลายรูปแบบทั้งการให้ยาเคมี การให้รังสีรักษา และการผ่าตัด ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล ขึ้นกับระยะของโรค ตำแหน่งของมะเร็งว่าอยู่ส่วนใดของกระเพาะอาหาร ความแข็งแรงของผู้ป่วย แต่การรักษาหลักเพื่อให้หายขาดจากโรคยังคงต้องใช้การผ่าตัดเป็นหลัก สำหรับการผ่าตัดรักษานอกจากจะต้องตัดเนื้อกระเพาะอาหารให้หมดจากมะเร็งแล้ว ยังจำเป็นต้องตัดต่อมน้ำเหลืองโดยรอบที่คาดว่ามะเร็งจะกระจายตัวออกไปทั้งหมดจึงจะได้ผลการรักษาที่ดี ซึ่งวิธีการผ่าตัดจะมีรายละเอียดและความแตกต่างจากการตัดกระเพาะทั่วไปในโรคที่ไม่ใช่มะเร็งชัดเจน


ภาพ Image Point Fr/ Shutterstock.com



จากที่กล่าวมาข้างต้น มะเร็งของกระเพาะอาหารนั้นพบได้ไม่บ่อยนัก ดังนั้น ศัลยแพทย์ที่จะทำการผ่าตัดมะเร็งกระเพาะอาหารให้ได้ผลรับที่ดีจะต้องเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการผ่าตัดรักษามะเร็งกระเพาะอาหารมาก่อน ซึ่งผลการรักษาที่ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล นั้น พบว่าอัตราการอยู่รอดและผลการรักษานั้นเทียบเท่ากับในประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในการผ่าตัดรักษาโรคนี้ ทั้งนี้ หากเป็นมะเร็งระยะแรก ๆ ก็จะสามารถทำการผ่าตัดแบบแผลเล็กหรือผ่าตัดผ่านกล้องได้อีกด้วย ที่ผ่านมาแม้ว่าประเทศไทยไม่ได้พบมะเร็งชนิดนี้มากนักและผู้ป่วยส่วนมากมาตรวจตอนที่มีอาการแล้วซึ่งมักจะไม่ใช่ระยะแรกทำให้ผลการรักษาไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไปการตรวจทางเดินอาหารมักจะตรวจแค่เพื่อรักษาอาการของโรคแผลในกระเพาะเป็นหลักไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญของการคัดกรองมะเร็งกระเพาะอาหาร นอกเหนือจากข้อบ่งชี้ของการตรวจกระเพาะอาหารที่เป็นที่รู้กันอย่างกว้างขวางตามสื่อต่าง ๆ ทั่วไปแล้ว สิ่งที่มักจะถูกมองข้ามคือ ต้องทำการตรวจในรายที่มีญาติสายตรงเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารดังนี้


ภาพ Blaj Gabriel / Shutterstock.com

มีญาติสายตรงอย่างน้อย 1 คนเป็นตอนอายุน้อยกว่า 40 ปี



มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองอย่างน้อย 2 คน เป็นตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี

มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็นอย่างน้อย 3 คน ไม่ว่าจะอายุเท่าใดก็ตาม

มีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรองเป็นมะเร็งเต้านมและกระเพาะอาหารในคนเดียวกันตอนอายุน้อยกว่า 50 ปี

มีญาติสายตรงมะเร็งกระเพาะอาหาร และมีญาติสายตรงชั้นเดียวกันหรือชั้นรอง คนอื่นเป็นมะเร็งเต้านมที่อายุน้อยกว่า 50 ปี

รวมถึงคนที่พบมีความผิดปกติของพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลังจากการผ่าตัดรักษา บางคนจะไม่มีการเพาะอาหาร บางคนก็อาจจะมีน้อยลง ก็คงต้องปรับตัวเรื่องการกินอาหาร เนื่องจากการที่ไม่มีกระเพาะอาหารจะทำให้การดูดซึมแร่ธาตุและวิตามินบางชนิดแย่ลง จึงต้องได้รับคำแนะนำต่าง ๆ จากศัลยแพทย์ผู้ทำการผ่าตัดว่าควรจะปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดอย่างไรและต้องได้รับการตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ





ผศ. นพ.ไชยรัตน์ ทรัพย์สมุทรชัย

หน่วยศัลยศาสตร์ทางเดินอาหารและศัลยศาสตร์ทั่วไป
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล