“มีชัย” ลุ้นศาล รธน.วินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ว.

2018-05-22 17:25:20

“มีชัย” ลุ้นศาล รธน.วินิจฉัยร่างกฎหมาย ส.ว.

Advertisement

“มีชัย”ลุ้นศาล รธน.ชี้ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากชี้ว่าขัดในสาระสำคัญจะทำให้ตกทั้งฉบับ และต้องยกร่างใหม่ มั่นใจไม่กระทบโรดแม็ปเลือกตั้ง คาดใช้เวลา 3 สัปดาห์

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ว่า คำถามได้ถามไปว่าบทบัญญัติที่เป็นปัญหานั้นขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากศาลบอกว่าขัดก็ต้องบอกว่าเป็นสาระสำคัญของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ตกทั้งฉบับหรือไม่ หากไม่ใช่ก็ตัดเฉพาะมาตรานั้นออก ก็ใช้กฎหมายได้ แต่หากบอกว่าขัดในสาระสำคัญ จะทำให้ร่าง พ.ร.ป.นั้นตกไป ต้องนำกลับมายกร่างใหม่ แต่คิดว่าในการทำใหม่นั้น กรธ.คงจะใช้เวลาประชุมเพียงครั้งเดียว แก้เพียง 2-3 มาตรา เฉพาะในส่วนที่ขัดหรือแย้ง ก็สามารถส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)พิจารณา ซึ่งอาจจะใช้กรรมาธิการเต็มสภา 3 วาระรวดได้ หากเร่งพิจารณาก็สามารถดำเนินการได้ภายใน 3 สัปดาห์ซึ่งจะรวมขั้นตอนของ สนช. แต่ทั้งนี้ตนก็คงไปเดาใจ สนช.ไม่ได้ว่าจะแก้ไขมากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่น่าจะไปรื้อหรือทำอะไรใหม่ๆ เพราะไม่น่าจะมีเวลาแล้ว

นายมีชัย กล่าวต่อว่า ถ้าสมมติศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าขัด เราก็คงจะแก้เฉพาะตรงนั้นไม่ให้มันขัด คงไม่ไปแก้อะไรให้มันเปลี่ยนไปมาก ทั้งที่ใจอยากจะแก้มากกว่านี้ ในส่วนของ กรธ.คิดว่าไม่น่าจะนาน จะใช้เวลาอย่างมากสัปดาห์เดียว แต่ในส่วนของ สนช.เราคงเดาใจเขาไม่ได้"นายมีชัย กล่าว




ส่วนร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. นั้น นายมีชัย กล่าวว่า ไม่น่าจะมีปัญหา เพราะประเด็นมันอยู่ตรงที่ว่า การให้คนพิการลงคะแนน และตัดสิทธิ์คนที่ไม่ไปใช้สิทธิ์ ซึ่งถ้าตัวนั้นใช้ไม่ได้ ก็จะหายไป 2 มาตรา แต่ถ้าเป็นร่าง ส.ว. ก็จะมีปัญหาหน่อย เพราะว่า มันกระทบทั้งบทเฉพาะกาลและเนื้อหาข้างใน ตรงนั้น อาจจะมีปัญหาได้ว่า ถ้าขัดเฉพาะตรงนั้นแล้วจะทำอย่างไร เพราะว่าบทเฉพาะกาลมันจะหายไป เพราะช่วงแรก ส.ว. ที่มาจากการเลือกไม่ใช่ 200 คน แต่เป็น 50 คน เพราะฉะนั้น ในเวลาเขียนบทเฉพาะกาล ก็เขียนเผื่อเอาไว้เฉพาะ 50คน แล้ว ส่วนมาตราที่ระบุว่าให้มาจาก 2 ทางนั้น พอตกไปแล้ว ตัวที่เขียนรองรับ 50 คน ก็จะตกไปด้วย ตรงนั้นก็จะเป็นปัญหา ทั้งนี้ ก็แล้วแต่ว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยอย่างไร