108 ปัญหากับหมอรามาฯ : การเอาตัวรอดจากไฟไหม้

2018-05-16 09:00:45

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : การเอาตัวรอดจากไฟไหม้

Advertisement

สถานการณ์ไฟไหม้ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นฉับพลันและสามารถคร่าชีวิตผู้ประสบภัยได้ ทำให้ทุกคนไม่ว่าใครก็ตามควรมีความรู้เบื้องต้นในการเอาตัวรอดจากไฟไหม้ติดตัวไว้ใช้ในยามคับขัน


ภาพ Andrey_Popov / Shutterstock.com



สาเหตุการตายจากสถานการณ์ไฟไหม้
• ร่างกายถูกเผาไหม้
• ในควันไฟจะมีเขม่าต่าง ๆ ที่ไปอุดตันทางเดินหายใจ ส่งผลให้เกิดภาวะการหายใจล้มเหลวเฉียบพลันและเสียชีวิตในที่สุด
• ควันไฟที่เกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนมอนนอกไซด์ และมีสารไฮโดรเจนไซยาไนด์ที่เกิดจากเผาไหม้เบาะและพลาสติก สารสองชนิดนี้ หากเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมากจะไปจับตัวกับฮีโมโกลบิน ซึ่งเป็นเม็ดเลือดที่นำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนำออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกายได้และเสียชีวิตในที่สุด




ภาพ antoniodiaz / Shutterstock.com

• สารอื่น เช่น ไฮโดรเจนคลอไรด์ที่เกิดจากการเผาไหม้ท่อพีวีซี และสารไนตริกออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้พวกพอลิเมอร์ ทำให้ระคายเคืองบริเวณต่าง ๆ เช่น ระคายเคืองตา
ทำให้แสบตา และหากไปโดนเยื่อบุที่สำคัญอย่างเยื่อบุทางเดินหายใจก็จะทำให้เสียชีวิตได้
• ไอร้อนที่เกิดจากความร้อน หากสูดดมมาก ๆ จะทำให้ทางเดินหายใจบวมส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและเสียชีวิตได้


• เมื่อผิวหนังถูกเผาไหม้รุนแรง ทำให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย หรืออาจทำให้ร่างกายสูญเสียในน้ำปริมาณมาก และเสียชีวิตลงในที่สุด
• สาเหตุอื่น ๆ เช่น อุบัติเหตุจากการหลบหนี เป็นต้น


 ภาพ Gorodenkoff / Shutterstock.com

การช่วยเหลือผู้อื่นจากสถานการณ์ไฟไหม้


• หากอยู่ในสถานการณ์คับขันให้รีบพาผู้ประสบภัยออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
• หากเพลิงไหม้สงบลงแล้ว การช่วยเหลือผู้ประสบภัยควรดูแลเรื่องกระดูกต้นคอเป็นหัวใจสำคัญ โดยการขนย้ายด้วยเปลหรือเบาะ อย่าหิ้วแขนหรือยกศีรษะห้อยลงในขณะเคลื่อนย้าย เพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนได้
• กรณีที่ผู้ประสบภัยถูกไฟครอกจนเสียหายรุนแรง หลังช่วยเหลือออกจากที่เกิดเหตุได้แล้ว ให้รีบถอดหรือตัดเสื้อผ้าออกจากร่างกายผู้ประสบภัย เพราะเสื้อผ้าจะอมความร้อนเอาไว้มาก แต่อย่าใช้วิธีกระชาก เพราะเนื้อผ้าบางส่วนอาจติดที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผิวหนังหลุดออกมาด้วย
• ถอดเครื่องประดับ เช่น นาฬิกาข้อมือ กำไล ต่างหู ออกจากตัวผู้ประสบภัย เพราะของเหล่านี้มีความร้อนจะทำให้เกิดการพอง


ภาพ Fahroni / Shutterstock.com



• ใช้น้ำสะอาดอุณหภูมิปกติรดตัวผู้ประสบภัย เพื่อลดความร้อนให้กับร่างกาย
• ใช้ผ้าชุบน้ำห่มตัวผู้ประสบภัยไว้ก่อน แล้วนำผ้าบางคลุมอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นให้รีบนำส่งโรงพยาบาล
• หากที่เกิดเหตุและโรงพยาบาลอยู่ไกลให้ผู้ประสบภัยดื่มน้ำก่อน เพราะผู้ประสบภัยมักจะมีภาวะขาดน้ำ แต่ถ้าโรงพยาบาลอยู่ไม่ไกลจากที่เกิดเหตุมากนักให้รีบนำส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
• รีบเปิดทางเดินหายใจให้ผู้ประสบภัยหลังนำตัวออกมาจากที่เกิดเหตุ


ภาพ ambrozinio / Shutterstock.com

วิธีการเอาตัวรอดจากสถานการณ์ไฟไหม้
1. ตั้งสติแล้วรีบพาตัวเองออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด
2. พยายามหลีกเลี่ยงการสูดควันต่าง ๆ เข้าไป เพราะอาจทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ทั้งยังได้รับสารเคมีต่าง ๆ ที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ
3. เอาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก หรือหาผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว จากนั้นรีบหาทางออกมาจากที่เกิดเหตุ
4. หากอยู่ในห้อง อย่าเพิ่งรีบเปิดประตู ควรจับประตูก่อนเพื่อดูว่าร้อนหรือไม่ หากรู้สึกร้อนนั่นหมายถึงอาจมีไฟอยู่หลังประตู จึงไม่ควรเปิดเพราะจะทำให้ควันไฟเข้าห้อง ควรหาผ้าหรืออื่น ๆ มาอุดตรงประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้องได้

ภาพ Markus Pfaff / Shutterstock.com

5. หากติดอยู่ในห้องพยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น ส่องไฟมือถือออกไปทางหน้าต่าง เพื่อให้ภายนอกรู้ว่ามีคนต้องการความช่วยเหลืออยู่
6. หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ ควรใช้บันไดหนีไฟแทน
7. หลีกเลี่ยงการวิ่งหนีเข้าจุดอับ
8. ระหว่างหาทางออกจากที่เกิดเหตุ หากมีควันมากพยายามก้มต่ำหรือคลาน เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ที่ต่ำ


ภาพ Thaspol Sangsee / Shutterstock.com

ควรปฏิบัติอย่างไรก่อนเกิดเหตุไฟไหม้
ไม่ว่าจะเข้าพักที่ใดก็ตาม ทั้งการเช่าอยู่ห้องพักระยะยาวและระยะสั้น ควรสังเกตทางหนีไฟและจดจำตำแหน่งเอาไว้อย่างแม่นยำ เพื่อที่เวลาเกิดเหตุจะได้พาตัวเองออกจากที่เกิดเหตุได้ทันเวลา เพราะที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประสบภัยหลายรายไม่ได้จดจำทางหนีไฟเอาไว้ ทำให้เมื่อเกิดเหตุไม่สามารถหลบหนีได้ทันเวลา


อ. นพ.พงศศิษฏ์ สิงหทัศน์
สาขาวิชาศัลยศาสตร์อุบัติเหตุและเวชบำบัดวิกฤตศัลยกรรม
ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล