108 ปัญหากับหมอรามาฯ : ลดพุง ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากและหลายโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ

2018-05-15 09:00:26

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : ลดพุง ลดความเสี่ยงมะเร็งต่อมลูกหมากและหลายโรคของระบบทางเดินปัสสาวะ

Advertisement

ภาวะอ้วนลงพุงเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการที่เรียกว่า Metabolic syndrome ซึ่งประกอบด้วย เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และภาวะอ้วนลงพุง (เส้นรอบเอว > 102 ซม.หรือ 40 นิ้วในผู้ชาย หรือ > 88 ซม.หรือ 35 นิ้วในผู้หญิง) เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่า กลุ่มอาการ Metabolic syndrome นี้จะเพิ่มความเสี่ยงของโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจทำให้เส้นเลือดหัวใจหรือเส้นเลือดสมองมีการอุดตันเกิดการขาดเลือดได้ ปัจจุบันเริ่มมีข้อมูลมากขึ้นว่ากลุ่มอาการ Metabolic syndrome นี้ยังเพิ่มความเสี่ยงของโรคต่างๆของระบบทางเดินปัสสาวะอีกด้วย


ภาพ TAGSTOCK1 / Shutterstock.com



มีการศึกษาพบว่ากลุ่มอาการ Metabolic syndrome มีความสัมพันธ์กับโรคต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคต่อมลูกหมากโตมักพบในผู้ชายที่อายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งทางการแพทย์เองก็ยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่าทำไมต่อมลูกหมากถึงโตเมื่ออายุมากขึ้น แต่ทราบว่าต่อมลูกหมากจะโตขึ้นเรื่อยๆตามอายุที่เพิ่มมากขึ้น จากการศึกษาพบว่าผู้ที่มีภาวะ Metabolic syndrome จะมีการโตของต่อมลูกหมากเร็วกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะนี้ โดยเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของฮอร์โมนอินซูลินซึ่งมีหน้าที่ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดจะส่งผลต่อการโตของต่อมลูกหมาก นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ของกลุ่มอาการ Metabolic syndrome กับมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย การศึกษาพบว่าผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากมักมีกลุ่มอาการ Metabolic syndrome ร่วมด้วยสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก และยังพบว่ามะเร็งต่อมลูกหมากที่พบในผู้ที่มีภาวะ Metabolic syndrome นั้นมักจะมีความรุนแรงมากกว่าและมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตจากมะเร็งต่อมลูกหมากได้มากกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะ Metabolic syndrome นอกจากนี้ยังพบความสัมพันธ์ระหว่างภาวะ Metabolic syndrome กับมะเร็งที่ไตอีกด้วย


ภาพ TAGSTOCK1 / Shutterstock.com


นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มว่าภาวะ Metabolic syndrome อาจสัมพันธ์กับการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ ภาวะ Metabolic syndrome จะทำให้มีการขับกรดยูริค ออกซาเลต และแคลเซียมในปัสสาวะเพิ่มมากขึ้น สารเหล่านี้สามารถจับตัวกันตกตะกอนเป็นนิ่วได้ ในขณะที่การขับซิเตรทซึ่งเป็นสารยับยั้งการเกิดนิ่วลดลง ทำให้โดยรวมแล้วมีโอกาสเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น

กลุ่มอาการ Metabolic syndrome นี้ยังมีความสัมพันธ์กับภาวะพร่องฮอร์โมนเพศในชายสูงวัย เนื่องจากภาวะอ้วนลงพุงจะส่งผลให้มีการเปลี่ยนฮอร์โมนเพศชายหรือเทสทอสเตอโรนเป็นฮอร์โมนเอสโตรเจนมากขึ้น ส่งผลให้ฮอร์โมนเพศชายในกระแสเลือดลดต่ำลง ซึ่งก็จะทำให้เกิดอาการต่างๆ เช่น มวลกล้ามเนื้อลดลง ความรู้สึกสดชื่นกระปรี้กระเปร่าลดลง ขาดความกระฉับกระเฉง มีแนวโน้มที่จะทำให้ลดน้ำหนักยาก น้ำหนักเพิ่มง่ายทั้งที่พยายามออกำลังกายแล้ว และยังส่งผลต่อสมรรถภาพทางเพศอีกด้วย ทั้งภาวะ Metabolic syndrome และภาวะพร่องฮอร์โมนเพศชายจะส่งผลให้การแข็งตัวขององคชาตลดลง รวมถึงทำให้การตอบสนองต่อยาขยายหลอดเลือดที่องคชาตลดลงอีกด้วย


ภาพ buritora / Shutterstock.com



ผู้ป่วยที่เป็นโรคต่อมลูกหมากหลายๆคน มักจะมีคำถามว่าจะดูแลตนเองอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เป็นโรคต่อมลูกหมากโต หรือปฏิบัติตัวอย่างไรไม่ให้โรคต่อมลูกหมากโตแย่ลงหรือโตมากขึ้น หรือจะป้องกันมะเร็งต่อมลูกหมากได้อย่างไร สิ่งหนึ่งที่สามารถทำได้ทันทีคือ การดูแลสุขภาพโดยรวมของตนเองให้ดีเพื่อไม่ให้เป็นเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และไม่ปล่อยให้อ้วนลงพุง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะนำไปสู่กลุ่มอาการ Metabolic syndrome และทำให้เกิดโรคต่างๆตามมาในอนาคต การป้องกันหรือพยายามลดปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้นอกจากจะป้องกันหลายๆโรคของระบบทางเดินปัสสาวะแล้ว ยังช่วยให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นอีกด้วย

นายแพทย์เปรมสันติ์ สังฆ์คุ้ม
สาขาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี