108 ปัญหากับหมอรามาฯ : ยาลดน้ำหนัก อันตรายและเหมาะกับใคร

2018-05-14 11:00:03

108 ปัญหากับหมอรามาฯ : ยาลดน้ำหนัก อันตรายและเหมาะกับใคร

Advertisement

“ยาลดน้ำหนัก” ถูกใช้ในทางการแพทย์ แต่ต้องควบคุมการใช้โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น เพราะถือเป็นยาที่ “มีผลข้างเคียงอันตราย” รวมถึงต้องเลือกคนไข้ที่จะใช้ยาเหล่านี้ให้ถูกต้องด้วย


ภาพ  life-literacy / Shutterstock.com



โดยทั่วไปแล้วยาลดน้ำหนักมีไว้ใช้สำหรับคนที่เป็น “โรคอ้วน” ซึ่งการใช้ยามักจะใช้ในผู้ป่วยที่อ้วนมากๆ มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 ขึ้นไป หรือเกิน 27 และมีโรคความดัน โรคเบาหวาน หรือหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วย เป็นต้น รวมถึงต้องวินิจฉัยว่าคนไข้มีการควบคุมอาหาร ออกกำลังกายแล้วแต่ “ไม่ได้ผล” จึงจะสามารถใช้ยาเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ว่าอยากจะลดแล้วสามารถใช้ยาได้เลย ต้องควบคุมการใช้โดยแพทย์ทุกครั้งเนื่องจากแพทย์ต้องพิจารณาว่าจะไม่เกิดอันตรายจากผลข้างเคียงของยาลดน้ำหนัก


ภาพ Ropisme / Shutterstock.com



ยาชุดหรืออาหารเสริมที่ขายตามสื่ออินเตอร์เน็ตต่าง ๆ หรือร้านค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง อาจจะมีการใช้ยาที่เป็นอันตราย มีส่วนผสมของยาหลายๆ ตัว ทำให้อาจได้รับยาเกินขนาดซึ่งมีผลเสียต่อร่างกายของเราอย่างแน่นอน เหตุผลที่ผู้ขายมีการใช้ยาผสมหลายๆ ตัว ก็เพราะต้องการให้ยามีประสิทธิภาพเห็นผลรวดเร็ว น้ำหนักลดได้รวดเร็ว แต่ผู้ผลิตหรือผู้ขายเองไม่ได้คำนึงถึงผลเสียที่จะตามมา สารต้องห้ามที่เรามักพบในยาลดน้ำหนักและมีอันตราย ได้แก่


ภาพ Moopixel / Shutterstock.com

1. “ไซบูทรามีน” มีฤทธิ์ในการลดความอยากอาหาร แต่เป็นยาที่ถูกเพิกถอนออกจากท้องตลาดไปแล้ว เนื่องจากมีการวิจัยชัดเจนว่า เมื่อใช้ยาตัวนี้จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและโรคเส้นเลือดสมอง



2. “ยาในกลุ่มแอมเฟตามีน” เช่น เฟนเทอร์มีน ออกฤทธิ์กระตุ้นศูนย์ควบคุมความอิ่มทำให้เกิดการเบื่ออาหาร อาจจะส่งผลข้างเคียงต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ความดันโลหิตสูงขึ้น ซึ่งเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยถึงขั้นเสียชีวิตได้

3. “ยาระบายและยาขับปัสสาวะ" มีผลทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ออกจากร่างกาย ซึ่งทำให้เหมือนว่าน้ำหนักจะลดลงเนื่องจากขาดน้ำแต่ไม่ได้มีผลในการลดน้ำหนักอย่างแท้จริง






อ.พญ.ประพิมพ์พร ฉัตรานุกูลชัย
ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล