“ไลฟ์ไลน์” รพ.ติดล้อ ที่พึ่งคนจนอินเดีย

2018-05-09 12:54:44

“ไลฟ์ไลน์” รพ.ติดล้อ ที่พึ่งคนจนอินเดีย

Advertisement

โรงพยาบาลติดล้อ "ไลฟ์ไลน์" รถไฟสายด่วนออกตั๋วต่อชีวิตชาวอินเดีย



“ไลฟ์ไลน์เอ็กซ์เพรส” รถไฟสายด่วนพาชาวอินเดียกว่าล้านคนมุ่งหน้าไปหาชีวิตใหม่ด้วยการให้การรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายมานานเกือบ 30 ปีแล้ว ถือเป็นการแบ่งเบาศูนย์การแพทย์ของรัฐที่ทำงานไม่ทันกับจำนวนผู้ป่วยมากมาย




ภักวนา ราม ปราจาปัตวัย 55 ปีนั่งรอด้วยความกังวลใจเพื่อจะก้าวขึ้นรถไฟไลฟ์ไลน์เอ็กซ์เพรสนี้ โดยเธอรออย่างสิ้นหวังมานานที่จะให้หลานชายได้รับการรักษาโรคปากแหว่ง และรถไฟขนาด 7 ตู้นี้ก็ตอบรับคำสวดภาวนาของพวกเขาแล้ว ปราจาปัตกล่าวขณะที่หลานชายถูกเข็นเข้าห้องผ่าตัดบนโรงพยาบาลรถไฟว่า “เรารอรับการผ่าตัดมานานตั้งแต่เขาเกิดเมื่อ 18 เดือนก่อน”







รถไฟสายไลฟ์ไลน์เอ็กซ์เพรสนี้ให้การรักษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายแก่ผู้ที่ต้องมากที่สุดในอินเดียมาเกือบ 30 ปีแล้วและได้ช่วยรักษาคนมากกว่า 1 ล้านคนให้หายดีจากโรคต่างๆ ตั้งแต่โรคต้อกระจกไปจนถึงโรคมะเร็ง โดยศูนย์การแพทย์แห่งนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิอิมแพคอินเดีย ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ทำงานร่วมกับรัฐบาลและได้รับความช่วยเหลือจากองค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟอีกด้วย







รถไฟสายนี้เดินทางไปหลายร้อยไมล์ทั่วประเทศอินเดียและหยุดอยู่ที่แต่ละเขตนานราวหนึ่งเดือน ก่อนจะย้ายไปอีกที่หนึ่งเพื่อช่วยเติมเต็มช่องโหว่ของระบบสาธารณสุขอินเดีย ปราจาปัตบอกว่า “เรานึกว่าจะต้องเดินทางไปทั่วและเสียเงินมากมาย แต่เป็นพรที่พระเจ้าประทานทำให้โรงพยาบาลแห่งนี้มาหาเรา”

ศูนย์การแพทย์ในชุมชนต่างๆ ของรัฐบาลเป็นแกนหลักของงานด้านการสาธารณสุขของอินเดีย แต่เพราะขาดแพทย์และระบบโครงสร้างพื้นฐานทำให้คน 70 เปอร์เซ็นต์ของประชากร 1.25 พันล้านคนในประเทศไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ และแม้อินเดียจะเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจรวดเร็วที่สุดในโลกแต่องค์กรยูนิเซฟกล่าวว่าเด็กในอินเดียราว 1.2 ล้านคนเสียชีวิตตั้งแต่ก่อนอายุครบ 5 ปีจากสาเหตุที่ป้องกันได้เมื่อปี 2558







รถไฟสายไลฟ์ไลน์ดำเนินงานด้วยพนักงานราว 20 คนและมีห้องผ่าตัด 2 ห้อง ซึ่งแพทย์ส่วนมากทำงานให้แบบไม่รับค่าจ้าง อย่างมีฮัก ซิกขะ เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์บอกว่าเธอเข้าทำงานที่โรงพยาบาลติดล้อนี้เมื่อเห็นสภาพอันน่าเวทนาที่ศูนย์การแพทย์ “ฉันรู้สึกปวดร้าวตอนที่เห็นระบบสาธารณสุขในประเทศของเรา โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิง” เพราะไม่มีนรีแพทย์ ซึ่งจำเป็นมากๆ และผู้หญิงก็มักติดเชื้อเวลาคลอดนอกโรงพยาบาล



ซิกขะกล่าวว่าเป้าหมายของไลฟ์ไลน์เอ็กซ์เพรสไม่ใช่แค่รักษาและจากไป แต่ต้องการให้ความรู้แก่แพทย์และประชาชนในพื้นที่ถึงวิธีการดูแลสุขภาพอย่างถูกต้องด้วย



ภาพ CHANDAN KHANNA / AFP,  MANAN VATSYAYANA / AFP