แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ระบุล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2561 นี้มีวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ พร้อมแล้วในท้องตลาด แนะประชาชนให้ฉีดปีละครั้ง เผยช่วยลดการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค และยังสามารถป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้แก่ เด็กเล็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ ผู้สูงอายุเกิน 65 ปี
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ อาจารย์พิเศษ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี, นายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โรคไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีมานานแล้ว มีหลากหลายสายพันธุ์ และมีการสลับเปลี่ยนแปลงเชื้อไวรัสในแต่ละฤดูกาลของแต่ละปี ที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เพราะโดยธรรมชาติเชื้อไวรัสต้องการความอยู่รอด และหากไปติดในคน สัตว์ที่มีภูมิคุ้มกันดี เชื้อไวรัสจะอยู่ไม่ได้และสูญพันธุ์ในที่สุดดังนั้นเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่จึงกลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตามหากผู้ใดติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่แล้วจะแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้ง่าย ซึ่งเกิดขึ้นได้ ทุกเพศ ทุกช่วงอายุ และสามารถแพร่เชื้อทางระบบทางเดินหายใจ โดยละออง เสมหะ จากผู้ป่วยไอ หรือจาม ไปยังผู้ที่อยู่ใกล้เคียง โดยมากมักพบอัตราการติดเชื้อสูงสุดในกลุ่มเด็กเล็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งอายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนเด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เมื่อป่วยเป็นโรคไข้หวัดใหญ่แล้ว อาจเกิดอาการป่วยรุนแรงมากขึ้น มีโรคแทรกซ้อนจนต้องมาตรวจรักษาจากแพทย์หรือโรคมีความรุนแรงจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือ อาจเสียชีวิตหากได้รับการรักษาไม่ถูกต้องหรือทันเวลา
แพทย์แนะนำให้ฉีดวัดซีนในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ชนิดรุนแรง ไม่ว่าจะเป็นหญิงตั้งครรภ์ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว อาทิ โรคปอด โรคหัวใจ โรคไต โรคเบาหวาน รวมไปถึงผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ดูแลกลุ่มเสี่ยง เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการ และผู้ที่สัมผัสกับผู้ป่วยเหล่านี้ ทั้งนี้ ในประเทศไทย แพทย์ให้ความสนใจโรคไข้หวัดใหญ่เป็นพิเศษ เพราะสามารถติดเชื้อไวรัสได้ทั้งปี แต่สูงสุดจะอยู่ในช่วงหน้าฝนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม และอีกช่วงจะสูงขึ้นในหน้าหนาว โดยแนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ก่อนถึงฤดูกาลระบาด เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันพร้อมสำหรับต่อสู้กับโรคไข้หวัดใหญ่
อย่างไรก็ตามสำหรับคนทั่วไป เด็กนักเรียนที่อยู่ในสถาบันศึกษาทุกคน หรือคนที่อยู่ในสถานที่ที่รวมกันมาก ๆ เช่นเด็กโรงเรียนประจำ เด็กเลี้ยงในเนอเซอรี่ ก็ควรที่จะได้รับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วย โดยแนะนำให้ฉีดในเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และแนะนำฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4 สัปดาห์สำหรับเด็กอายุ 6 เดือน ถึง 9 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนไข้หวัดใหญ่มาก่อน
ในกรณีเด็กอายุต่ำกว่า 9 ปีที่เคยฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ครบ 2 เข็มในปีก่อน ๆ แล้ว หรือผู้ที่มีอายุเกิน 9 ปี แนะนำฉีดเข็มเดียวในแต่ละปีก็พอ อย่างไรก็ตามให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแลเพื่อได้รับวัคซีนที่ถูกต้อง
สำหรับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ปัจจุบันมี 2 ชนิด คือ ชนิดครอบคลุม 3 สายพันธุ์ และชนิดครอบคลุม 4 สายพันธุ์ ซึ่งได้ผลดีทั้งสองชนิด อย่างไรก็ตามความก้าวหน้าทางการแพทย์ในปัจจุบันแนะนำให้ประชาชนฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ที่ครอบคลุมไวรัส 4 สายพันธุ์ เพราะสามารถครอบคลุม เชื้อไข้หวัดใหญ่ได้กว้างขวางมากกว่า มีประสิทธิผลดีกว่าแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง และล่าสุดมีการศึกษาวิจัย ด้านประสิทธิผลในเด็ก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการลดลงของจำนวนผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ ลดการใช้ยาปฏิชีวนะ ลดความถี่ในการมาพบแพทย์ และลดการที่ต้องมารักษาตัวในห้องฉุกเฉิน ซึ่งผลโดยรวมพบว่าวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มีประโยชน์มากต่อคนทุกช่วงอายุโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็ก
รศ.(พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวด้วยว่า ที่แนะนำให้ประชาชนไปฉีดวัดซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ครอบคลุม 4 สายพันธุ์ดังกล่าวข้างต้น เนื่องจากสายพันธุ์ของเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดจะแตกต่างกันไปทุกปี ดังนั้นทางองค์การอนามัยโลก (WHO) จึงมีการแนะนำให้ปรับสายพันธุ์ในวัคซีนใหม่ทุกปีด้วยเช่นกัน เพื่อให้สายพันธุ์ในวัคซีนใกล้เคียงกับสายพันธุ์ที่จะระบาดในฤดูกาลไข้หวัดใหญ่ในปีนั้น ๆ มากที่สุด และภูมิคุ้มกันของร่างกายที่สร้างขึ้นจากวัคซีนในปีก่อน ๆ อาจไม่ตรงกับ เชื้อไวรัสที่ระบาดในปีต่อมา
“ในปี 2561 ประเทศไทยมีวัคซีนชนิดครอบคลุม 4 สายพันธุ์ป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ แล้ว หากใครที่เคยฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ของปีก่อน ๆ แนะนำให้ฉีดอีกครั้งที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อให้ได้รับวัคซีนที่มีสายพันธุ์ตรงกับที่องค์การอนามัยโลกได้แนะนำล่าสุด จึงจะได้ประสิทธิผลสูงสุด และได้รับประโยชน์จากการป้องกันไข้หวัดใหญ่ด้วยวัคซีนอย่างเต็มที่ ดังนั้น แนะนำให้ประชาชนไปฉีดได้ทันทีที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเสียแต่เนิ่นๆ เพราะการเก็บวัคซีนในร่างกายดีกว่า เก็บวัคซีนไว้ในตู้เย็น” รศ. (พิเศษ) นพ.ทวี กล่าวทิ้งท้าย