ปล่อยแร้งหิมาลัย ฟื้นฟูสภาพจนแข็งแรง

2018-05-02 12:45:46

ปล่อยแร้งหิมาลัย ฟื้นฟูสภาพจนแข็งแรง

Advertisement

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมนักวิจัยกรมอุทยานฯ ลงพื้นที่ปล่อยแร้งน้ำตาลหิมาลัยหายาก ปี 2 หลังฟื้นฟูสภาพจนแข็งแรง


เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเฟซบุ๊ก กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โพสต์ข้อความพร้อมภาพระบุว่า “มหาวิทยาลัยฯ เกษตรศาสตร์ ร่วมกับทีมนักวิจัยกรมอุทยานฯ ลงพื้นที่ปล่อยแร้งน้ำตาลหิมาลัยหายาก ปี 2 หลังฟื้นฟูสภาพจนแข็งแรง เมื่อวันที่ 30 เม.ย.2561 สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว ร่วมกับ สถานีวิจัยสัตว์ป่าบึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์ อุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปก และหน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ลงพื้นที่ปล่อยแร้งน้ำตาลหิมาลัย หายาก ที่หมดแรงตกลงบริเวณภาคใต้เป็นปีที่ 2 ทางเพจ สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว เปิดเผยว่า ทางสถานีวิจัยฯ ได้ร่วม ปล่อยแร้งสีน้ำตาลหิมาลัยมาแล้ว คือ บุญรอด/ภูเก็ต รหัส KU615 วัยเด็ก เพศเมีย น้ำหนักตัว 7.9 กก. ประวัติขาดอาหาร หมดแรง ที่ อ.เมือง จ.ภูเก็ต เมื่อเมื่อวันที่ 12 ธ.ค.2560 และแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย ชื่อกระบี่ รหัส KU616 วัยเด็ก เพศผู้น้ำหนักตัว 7 กก. ประวัติขาดอาหาร หมดแรง ที่ อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เมื่อวันที่ 22 ม.ค.2561 โดยชาวบ้านส่งมอบแร้งดังกล่าวให้สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าพังงา และสถานีฯพัทลุงเพื่ออนุบาลเบื้องต้นแล้วส่งต่อมาฟื้นฟูสุขภาพที่หน่วยฟื้นฟูนกล่าเหยื่อฯเพื่อปล่อยคืนธรรมชาติ โดยการปล่อยที่จุดชมวิวสันจุ๊ พื้นที่ติดต่อระหว่าง อ.ฝาง - อ.แม่อาย ในเส้นทางดอยลางตั้งอยู่บนชายแดน ประเทศไทย-เมียนมา ระดับความสูง2,000เมตร เหนือระดับน้ำทะเลโดยประมาณ เป็นจุดที่ตั้งอยู่บนเส้นทางอพยพของแร้งหิมาลัยในประเทศไทย เดือน เม.ย. เป็นฤดูกาลอพยพของนกอพยพกลับถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์





ขณะที่เฟซบุ๊ก สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว โพสต์ข้อความระบุว่า “นกอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย (Himalayan Vulture) วันนี้ก็จะพาเพื่อนๆ มารู้จักกับอีแร้งสีน้ำตาลหิมาลัย เคยมีความเชื่อของชาวทิเบตว่าวิญญาณของผู้ตายจะขึ้นสู่สรวงสวรรค์เมื่อนำศพให้อีแร้งกิน ซึ่งอีแร้งสีน้ำตาลนี้หายาก มีขนาด 115-125 เซนติเมตร ความยาวปีก 2.60-2.89 เมตร น้ำหนักตัว ตัวผู้/ตัวเมีย 8-12 กิโลกรัม ส่วนหัวและลำคอมีขนอุยสีขาว ขนแผงคอสีน้ำตาลอ่อนมีลายขีดสีขาว ลำตัวสีน้ำตาลออกเหลืองหรือสีกากีอ่อน ใต้ท้องสีน้ำตาลอ่อนกว่าด้านหลัง ก้านขนแต่ละเส้นจะมีลักษณะเป็นสีขาวเด่นออกมาจากพื้นสีลำตัว เมื่อยังเล็ก นกวัยอ่อนจะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ มีลายสีขาวบนก้านขนอย่างเห็นได้ชัดเจนกว่านกวัยโต มีขนปีกและขนหางสีดำ ขนาดใหญ่ไล่เลี่ยกับอีแร้งดำหิมาลัยและใหญ่ที่สุดในบรรดาอีแร้ง สกุล Gyps ขณะบิน ปีกยาวและกว้างมากคล้ายบานประตู มือกว้างและนิ้วยาว ขณะเกาะ ขนอุยสีขาวบนหัวและคอ แผงคอสีน้ำตาล แต่ความเข้มผันแปรตามอายุ แข้งเปลือย ปลายปีกจรดปลายหาง มีฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือน ม.ค.ถึงเม.ย. รังมีขนาดใหญ่โดยทำจากเศษกิ่งไม้หรือวัสดุอื่น ๆ ทำรังบนหน้าผาสูง ทำรังเดี่ยวหรือรวมกันเป็นหลายรังประมาณ 5-6 รังในที่เดียวกัน ตัวเมียจะวางไข่เพียงครั้งละ 1 ฟอง แร้งสีน้ำตาลหิมาลัยไม่ใช่นกประจำประเทศไทย แต่เป็นนกอพยพที่ฤดูหนาวจะบินลงใต้มาอาศัยอยู่ยังประเทศไทยเพราะมีอากาศที่อบอุ่นกว่า สถานะอนุรักษ์ในประเทศไทย เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฏหมาย







ขอบคุณเฟซบุ๊ก : กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช, สถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว