อาลัย “สวลี ผกาพันธุ์” ปูชนียบุคคลเพลงลูกกรุง

2018-05-02 11:15:16

อาลัย “สวลี ผกาพันธุ์” ปูชนียบุคคลเพลงลูกกรุง

Advertisement

สูญเสียครั้งสำคัญอีกครั้งสำหรับวงการเพลงลูกกรุง หลัง “สวลี ผกาพันธุ์” นักร้องดังระดับตำนาน ศิลปินแห่งชาติผู้มากความสามารถได้เสียชีวิตอย่างสงบด้วยวัย 86 ปี ภายในบ้านพักของตนเอง เมื่อคืนวันที่ 1 พ.ค. ที่ผ่านมา

สวลี ผกาพันธุ์ มีชื่อจริงว่า เชอร์รี่ เศวตนันทน์ เป็นนักร้องเพลงลูกกรุง และนักแสดงชาวไทย มีผลงานบันทึกเสียงประมาณ 1,500 เพลง ปัจจุบันเธอถือเป็นปูชนียบุคคลของวงการเพลงลูกกรุง สวลีถือเป็นนักแสดงรุ่นบุกเบิกของวงการภาพยนตร์ไทยยุคฟิล์ม 16 มิลลิเมตร มีผลงานแสดงสร้างชื่อจากภาพยนตร์เรื่อง “ดรรชนีนาง” รับบทเป็น "ดรรชนี" และเป็นนักแสดงคนแรกที่รับบทเป็น "พจมาน สว่างวงศ์" จากละครเวทีเรื่อง บ้านทรายทอง

สวลี ผกาพันธุ์ เกิดวันที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2474 ที่กรุงเทพมหานคร มีชื่อจริงแต่แรกเกิดว่า “เชอร์รี่ ฮอฟแมนน์” เป็นลูกครึ่งที่เกิดแต่บิดาชาวเดนมาร์กกับมารดาชาวไทย มีพี่น้อง 2คน สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนสตรีมหาพฤฒารามเมื่อปี พ.ศ. 2483 จากนั้นได้เรียนต่อเพิ่มเติมทางด้านชวเลข และพิมพ์ดีด เมื่อเรียนจบแล้วได้เข้าทำงานเป็นเสมียนพิมพ์ดีด ที่เทศบาลนครกรุงเทพ และบริษัทสหไทยวัฒนา




สำหรับเส้นทางเข้าสู่วงการบันเทิง “สวลี ผกาพันธุ์” มีความสนใจทางด้านการขับร้องและดนตรีมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นมัธยม และด้วยความที่เป็นผู้มีน้ำเสียงดี จึงได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำในการร้องเพลงชาติทุกวัน ต่อมาในปี พ.ศ.2491 ขณะที่อายุได้ 17 ปี และกำลังทำงานที่บริษัทสหไทยวัฒนานั้น คุณมยุรี จันทร์เรือง ครูสอนวิชาขับร้องที่โรงเรียนสตรีมหาพฤฒาราม ได้ชวนไปดูการฝึกซ้อมละครของคณะผกาวลี ซึ่งเป็นของญาติ ทำให้มีโอกาสรู้จักกับ ครูลัดดา สารตายน ผู้ฝึกซ้อมและกำกับการแสดง

ครูมยุรีได้เล่าให้ครูลัดดาฟังว่าเชอร์รี่ร้องเพลงได้ดี ครูลัดดาจึงลองทดสอบเสียงโดยให้ร้องเพลงพระราชนิพนธ์สายฝนปรากฏว่าเป็นที่พอใจ จึงชวนมาร้องเพลงสลับฉากละครในตอนเย็นหลังเลิกงาน เพลงแรกในชีวิตมีชื่อว่าเพลง “หวานรื่น” ผลงานเพลงของครูประสิทธิ์ ศิลปบรรเลง โดยร้องคู่กับ วลิต สนธิรัตน์ ในวันนั้น นอกจากจะเป็นวันที่เริ่มต้นชีวิตการเป็นนักร้องแล้ว ยังเป็นวันที่ครูลัดดาได้ตั้งชื่อให้ท่านใช้ในการแสดงว่า “สวลี” แปลว่า "น้ำผึ้ง" ส่วนนามสกุล “ผกาพันธุ์” นั้น สด กูรมะโรหิต เป็นผู้ตั้งให้ในเวลาต่อมา โดยมีความหมายว่า "เผ่าพันธุ์ของดอกไม้" ซึ่งนำมาจากชื่อจริงของเธอคือ "เชอร์รี่" จากนั้นมาได้มีโอกาสร้องเพลงสลับฉากเพิ่มขึ้นกับเริ่มแสดงเป็นตัวประกอบ มีบทพูดเล็ก ๆ น้อยๆ และร้องเพลงในเรื่อง



เมื่องานการขับร้องเพลงและการแสดงละครมีมากขึ้น จึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อมาทำงานด้านการบันเทิงอย่างเต็มตัว ต่อมาไม่นานได้รับบทนางเอกครั้งแรกใน “ความพยาบาท” ทำให้มีชื่อเป็นที่รู้จักทั่วไปและได้แสดงนำอีกหลายเรื่อง จนคณะผกาวลีเลิกกิจการลง จึงได้ย้ายไปแสดงอยู่กับคณะอัศวินการละคร เป็นนางเอกเรื่อง มโนราห์ คู่กับ สุรสิทธิ์ สัตยวงศ์ และเรื่องอื่นๆ ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ บ้านทรายทองบทประพันธ์อมตะตลอดกาลของ ก.สุรางคนางค์ (ซึ่งต่อมาเป็นละครโทรทัศน์และภาพยนตร์อีกหลายครั้ง) รับบทเป็น “พจมาน” คนแรก และได้ร้องเพลงไพเราะ หากรู้สักนิด ผลงานการประพันธ์ของหม่อมหลวงประพันธ์ สนิทวงศ์ เป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ยังได้ร่วมแสดงกับคณะเทพศิลป์ และคณะศิวารมย์เป็นครั้งคราว

หลังจากมีประสบการณ์ในวงการละครเวทีมาระยะหนึ่ง สวลี และอดีศักดิ์ เศวตนันทน์ สามี ตั้งคณะละคร นันทน์ศิลป เปิดการแสดงที่ศาลาเฉลิมนคร และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะชื่นชุมนุมศิลปิน ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีจนถึงปลายยุคละครเวที ส.อาสนจินดา ได้ชักชวนสมัครพรรคพวกที่เคยร่วมงานละครเวทีกันมาก่อนมาแสดงภาพยนตร์ที่เตรียมสร้างโดยมีสวลีเป็นนางเอกอยู่ระยะหนึ่งกับมีโอกาสทำหน้าที่พากย์หนังด้วย ระยะนี้เริ่มร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียง ผลงานล้วนประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น ลมหวน,โรครัก,หน้าชื่นอกตรม,รักมีกรรม ฯลฯ

เมื่อมีการก่อตั้งไทยทีวี ช่อง 4 บางขุนพรหม สถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2498 คณะชื่นชุมนุมศิลปิน ได้เข้ามาจัดรายการโทรทัศน์เป็นคณะแรก ด้วยการจัดรายการเพลง ซึ่งมี ครูสมาน กาญจนผลิน เป็นผู้ควบคุมวง และนักร้องที่มีชื่อเสียง เช่น สุเทพ วงศ์กำแหง, ชรินทร์ นันทนาคร, นริศ อารีย์, พูลศรี เจริญพงษ์, อดิเรก จันทร์เรือง ฯลฯ และละครโทรทัศน์หลายเรื่อง ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นผู้พากย์หนังทีวีชุด “แลสซี่ สุนัขแสนรู้” อีกด้วย ส่วนงานบันทึกเสียงยังมีประจำทั้งเพลงเดี่ยวและเพลงคู่ นักร้องที่เคยร่วมงานด้วยซึ่งค่อนข้างหาฟังยากในปัจจุบันคือชาญ เย็นแขในบทเพลง สายน้ำผึ้ง, ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ และ สมยศ ทัศนพันธ์



ด้วยความสามารถหลากหลายด้านทำให้ สวลี ผกาพันธุ์ เป็นนักร้องสตรีที่ได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทานมากที่สุดถึง 4 ครั้ง และรับรางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) เมื่อปี พ.ศ.2532


ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย