ศาลอุทธรณ์ตัดสินจำคุก นายชวน ภูเก้าล้วน คนดังเมืองกระบี่ เป็นระยะเวลา 3 ปี 6 เดือน หลังกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยื่นฟ้องข้อหาบุกรุกสร้างรั้วลวดหนาม ที่เกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เมื่อปี 2559 ขณะที่จำเลยประกันตัวสู้คดี
เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาล จ.กระบี่ ได้อ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ยื่นฟ้องนายชวน ภูเก้าล้วน ประธานประธานคณะกรรมการบริหารบริษัทศรีผ่องพาณิชย์ จำกัด ในคดีบุกรุกสร้างรั้วลวดหนาม ที่เกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เมื่อปี 2559 โดยศาลได้ตัดสินจำคุกเป็นเวลา 3 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ขณะที่จำเลยได้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวด้วยวงเงิน 2 แสนบาท และเตรียมยื่นฎีกาสู้คดีต่อไป ซึ่งคดีดังกล่าว ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นได้ตัดสินยกฟ้องนายชวนมาแล้ว
สำหรับคดีเกาะปอดะ เป็นคดีที่ยืดเยื้อยาวนาน ตั้งแต่ปี 2528 กรมอุทยานแห่งชาติฯได้ยื่นฟ้องนายชวนว่า ที่อ้างสิทธิครอบครองเกาะปอดะ โดยอ้างเอกสาร นส.3 ก ที่ออกโดยมิชอบ ต่อมาในปี 2554 ศาลฎีกา ได้ตัดสินให้นายชวน แพ้คดี โดยเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ และให้รื้อถอนสิ่งปลููกสร้างออกจากพื้นที่ และในปี 2558 นายชวน โดยอ้างเอกสาร สค.1 อีก 1 ใบ อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่กว่า 70 ไร่ ต่อมาในเดือน ก.ค.2560 ศาลชั้นต้นได้ตัดสินให้นายชวน ชนะคดี ได้ทำหนังสือให้อุทยานฯ รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกจากพื้นที่ ล่าสุดทางกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืชได้ยื่นอุทธรณ์ต่อสู้คดี
ขณะที่นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดี กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เปิดเผยว่า หลังจากคณะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านคดีผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม กรมสอบสวนคดีพิเศษ ดีเอสไอ ผู้เชี่ยวชาญของศาลยุติธรรมด้านวิเคราะห์ภาพถ่ายทางอากาศและแผนที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร ลงพื้นที่เกาะปอดะ ต.อ่าวนาง อ.เมืองกระบี่ เพื่อหาหลักฐานใหม่กรณีพิพาทระหว่างเอกชนกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช โดยพบว่ากรณีที่โจทย์คือ นายชวน ภูเก้าล้วน อ้างว่าได้ทำประโยชน์บนเกาะปอดะเมื่อปี พ.ศ.2495 โดยมีหลักฐาน สค.1 เลขที่ 1 ใช้ยืนยันในการทำประโยชน์ แต่เมื่อผู้เชี่ยวชาญจากดีเอสไอตรวจสอบจากการแปรภาพถ่ายทางอากาศย้อนหลังตั้งแต่ปี พ.ศ.2510 ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ออก สค.1 เลขที่ 1 พบว่าสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าไม่มีร่องรอยการทำประโยชน์ นอกจากนี้จากการตรวจสอบอายุของต้นมะพร้าว ของนักวิชาการจากศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร กรมส่งเสริมการเกษตร พบว่ามีอายุประมาณ 40 ปี ซึ่งน้อยกว่าที่ทางเอกชนอ้างว่าปลูกมากว่า 65 ปี เป็นข้อมูลของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ประกอบการยื่นอุทธรณ์คดีนี้ แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอการพิจารณาของศาลอุทธรณ์