"เอกนัฏ" ปูดโดนตั้งค่าตัว 200-300 ล้านเด้งพ้น รมต.

2025-01-23 15:31:50

"เอกนัฏ" ปูดโดนตั้งค่าตัว 200-300 ล้านเด้งพ้น  รมต.

Advertisement

"เอกนัฏ" ยันปิดโรงงานน้ำตาลไม่มีการเลือกปฏิบัติ ปูดโดนตั้งค่าตัว 200-300 ล้านเด้งพ้นเก้าอี้ รมต. หลังเข้มงวดแก้ปัญหาในภาคอุตสาหกรรม

เมื่อเวันที่ 23 ม.ค.68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ทั้งนี้มีวาระการพิจารณากระทู้ถามสดของนายธีระชัย แสนแก้ว ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เรื่อง การปิดโรงงานน้ำตาล จ.อุดรธานี ถามนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรมว่า เป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ เนื่องจากพื้นที่ที่พบว่ามีรับซื้ออ้อยเผาสูงกว่า จ.อุดรธานี ไม่พบการสั่งปิดโรงงานเพราะรับซื้ออ้อยเผาเกิน ร้อยละ 25

นายเอกนัฏ ชี้แจงว่า ขอยืนยันว่าไม่มีการเลือกปฏิบัติแน่นอน และตั้งแต่ตนทำหน้าที่ รมว.อุตสาหกรรม ไม่ใช่นั่งเฉยๆในห้องแอร์ แต่ได้ลงพื้นที่ตรวจจับและจัดระบบใหม่ในภาคอุตสาหกรรม ปัญหากากอุตสาหกรรม สินค้าด้อยคุณภาพนำเข้าประเทศ ตนสั่งปิดและจับ ดำเนินคดีเด็ดขาด ส่วนกรณีที่มีการวางค่าตัวไว้ว่ามีเงิน 200-300 ล้านบาท เพื่อย้ายรัฐมนตรี ตนไม่กลัวเพราะตนมีหน้าที่ที่ต้องการรักษาประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งนี้การช่วยเหลืออ้อยสด 120 บาท เสนอเข้า ครม.เมื่อเดือนพ.ย.67 แต่ขณะนี้ ครม. ยังไม่มีมติ อย่างไรก็ดีแนวทางที่จะดำเนินการนั้นต้องการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจ ที่ให้ของเหลืออ้อย เช่น ใบ ชานอ้อย ไปผลิตไฟฟ้าเพื่อจำหน่าย เพื่อให้เกษตรกรตัดใบส่งขายให้โรงงานหากกำหนดราคาที่เป็นธรรม โรงงานจะได้ และเกษตรกรมีรายได้เสริม โดยการวางระบบดังกล่าวจะทำให้ทันก่อนฤดูกาลหน้าที่จะเปิดหีบอ้อย

“การปิดโรงงานน้ำตาลเป็นภารกิจของรัฐบาล ช่วยลดฝุ่นPM 2.5 ที่เป็นปัญหาระดับประเทศ โดยการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่มีเส้นแบ่งระหว่างพรรคการเมืองหรือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงใด แต่เป็นภารกิจที่นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญ ทั้งนี้เป็นความตั้งใจของผมที่ต้องการให้ลดการเผาอ้อย โดยล่าสุดพบอัตราการเผาอยู่ที่ ร้อยละ 11 ที่ถือว่าต่ำที่สุดบางทีการตัดสินใจไม่ง่าย แต่ต้องช่วยกัน โดยแก้ปัญหามีต้นทุนที่ต้องจ่าย สำหรับโรงงานน้ำตาลที่ถูกปิด อุตสาหกรรมจังหวัดเข้าตรวจสอบพบว่ามีการรับซื้ออ้อยสูงสุดปริมาณ 4แสนตัน พบเป็นเปอร์เซ็นต์ที่ซื้ออ้อยเผา ร้อยละ 40 ถือว่าสูงสุด ” รมว.อุตสาหกรรม กล่าว

นายเอกนัฏ กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการในปีนี้ชัดเจนตั้งแต่ ต.ค. 67 ได้แจ้งในการประชุมคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย มีโรงงานและเกษตรกร เมื่อ ต.ค.67 มีการขอความร่วมมืองดการเผา เกินวันละ ร้อยละ 25 และให้โรงงานรับซื้ออ้อยเผาเกิน ร้อยละ 25 ทั้งนี้มีมติ ครม.ที่ส่งมาถึงตน ขอให้กระทรวงเพิ่มมาตรการงดรับอ้อยเผาโดยสิ้นเชิง ทั้งนี้ปัญหาการไม่รับซื้ออ้อยเผาที่ จ.อุดรธานี ตนได้ช่วยแก้ปัญหาและทราบว่ามีการเคลียร์อ้อยที่ค้างการรับซื้อทั้งหมดแล้ว ส่วนที่พบว่ามีอ้อยเน่านั้นจะมีมาตรการเยียวยาต่อไป