รมว.ต่างประเทศชี้ปัญหาเมียนมาไทยไม่เห็นด้วยใช้ความรุนแรง

2025-01-09 14:33:57

รมว.ต่างประเทศชี้ปัญหาเมียนมาไทยไม่เห็นด้วยใช้ความรุนแรง

Advertisement

 รมว.ต่างประเทศชี้ปัญหาเมียนมา ไทยไม่เห็นด้วยใช้ความรุนแรง  เป็นเรื่องภายในประเทศ

เมื่อเวลา 11.15 น. วันที่ 9 ม.ค. 68 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีนายภราดร ปริศนานันทกุล รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่สอง ทำหน้าที่ประธานในการประชุม ทั้งนี้มีการพิจารณากระทู้ถามสดด้วยวาจา ของนายกัณวีร์ สืบแสง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม ถามนายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ เรื่อง บทบาทการทูตของไทยกรอบการทำงานของไทยต่อความไม่สงบในประเทศเมียนมา ต่อการช่วยเหลือและสนับสนุนให้เมียนมาเกิดสันติภาพโดยเร็วเพราะประเทศไทยถือว่าเป็นมิตรประเทศใกล้เคียง

รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงว่า ประเทศไทยไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงกับทุกกลุ่ม ทั้งจากฝ่ายปกครองหรือฝ่ายต่อต้าน รวมถึงไม่สนับสนุนให้เกิดความรุนแรง ไม่ต้องการให้การสู้รบคงอยู่ในเมียนมาต่อไป อย่างไรก็ดีปัญหาของเมียนมานั้นจำเป็นต้องใช้การพูดคุยตามขั้นตอน สำหรันสถานการณ์ของเมียนมามีขั้นตอนและความเปราะบางหลายจุด รวมถึงมีผู้เล่นที่เกี่ยวข้องมาก สถานการณ์ซับซ้อน เป้าหมายของไทยอยากให้เมียนมากลับมาสงบ มีเสถียรภาพประชาชนเมียนมามีความเป็นอยู่ที่ดี มีความก้าวหน้า โดยต้องดำเนินการพูดคุยอย่างสร้างสรรค์กับคนทุกกลุ่มในเมียนมา

รมว.ต่างประเทศ ชี้แจงต่อว่า สำหรับความขัดแย้งในเมียนมาเป็นเรื่องภายในประเทศ พวกเขาต้องหาทางออกของอนาคตกันเองจึงจะยั่งยืนประเทศ โดยภายนอกไม่สามารถบีบบังคับให้เมียนมาเป็นไปตามที่ต้องการได้ ไทยตระหนักดีกว่าเมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้าน จึงมีความปรารถนาหาแนวทางสนับสนุนให้ฝ่ายต่างๆ หันหน้าคุยกันตามกระบวนการของอาเซียน ให้เมียนมามีความปรองดอง และพัฒนาเศรฐกิจได้อีกครั้ง.

จากนั้นนายปิยรัฐ จงเทพ ส.ส.กทม. พรรคประชาชน ได้ตั้งกระทู้ถาม รมว.ต่างประเทศ เรื่อง ข้อพิพาทอ้างสิทธิในไหล่ทวีทับซ้อนบริเวณอ่าวไทยระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา โดยถามถึงความคืบหน้าการดำเนินการและการเจรจาระหว่างไทยและกัมพูชาตามกรอบของเอ็มโอยู 2544 รวมถึงกรณีต่อการนำพลังงานในพื้นที่ทับซ้อนขึ้นมาใช้ระหว่างที่การเจรจาข้อพิพาทจะแล้วเสร็จ ที่พบว่าทั้งไทยและกัมพูชาพบการให้สัมปทานกับเอกชนไปแล้ว

นายมาริษ ชี้แจงว่า รัฐบาลไทยชุดปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งตามกรอบเอ็มโอยู 2544 มีข้อกำหนดให้รัฐบาลทั้ง 2 ฝ่ายต้องเจรจาร่วมกัน ทั้งนี้รัฐบาลไทยมีกลไกของกรรมการร่วม แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่ได้ตั้งกรรมการดังกล่าวขึ้นมาพิจารณา สำหรับข้อห่วงใยของ ส.ส.ฝ่ายค้านนั้น ตนพร้อมรับฟัง อย่างไรก็ดีในปลายเดือน ม.ค. นี้ กระทรวงการต่างประเทศ และกรรมาธิการ (กมธ.) ของสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องจะร่วมกันจัดเวทีสัมมนาเพื่อรับฟังความเห็นในประเด็นดังกล่าว