ทลายเครือข่ายโรงงานเถื่อนผลิตยาแก้ไอปลอม

2025-01-08 06:08:42

ทลายเครือข่ายโรงงานเถื่อนผลิตยาแก้ไอปลอม

Advertisement

บก.ปคบ. ร่วม อย. สสจ.นครปฐม ทลายเครือข่ายโรงงานเถื่อนผลิตยาแก้ไอปลอม สกัดกั้นก่อนเตรียมปล่อยขายล็อตใหญ่ มูลค่ากว่า 100 ล้าน 

เมื่อวันที่ 8 ม.ค.68 กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง โดย  บก.ปคบ. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม ร่วมปฏิบัติการจับกุมกวาดล้างเครือข่ายผู้ผลิตและจำหน่ายยาแก้ไอปลอมรายใหญ่ในพื้นที่ จ.นครปฐม ตรวจยึด อายัด ยาสำเร็จรูป เครื่องมือเครื่องจักร อุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิต และวัตถุดิบที่หากนำไปผลิตเป็นยาสำเร็จรูปจะมีมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท   

สืบเนื่องจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคได้รับแจ้งเบาะแสจากสื่อสังคมออนไลน์ว่ามีการนำยาแก้ไอชนิดน้ำเชื่อม หรือยาบางชนิดมาใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยนำมาผสมกับน้ำกระท่อมดื่มเพื่อความมึนเมา และเสพติดเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดการลักลอบผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยการเสพยาเสพติดชนิด 4 คูณ 100 อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้กลุ่มวัยรุ่นที่เสพยกระดับเป็นสารเสพติดรูปแบบอื่นที่รุนแรงมากขึ้นได้ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาดของยาเสพติดชนิดดังกล่าวในกลุ่มวัยรุ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีการเฝ้าระวังการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาน้ำแก้แพ้ แก้ไอเรื่อยมา  ต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการสืบสวนหาข่าวพบว่า มีการลักลอบผลิตยาแก้ไอปลอม และทราบถึงกลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตยาแก้ไอปลอมว่ามีการลักลอบผลิตและบรรจุอยู่ในพื้นที่ จ.นครปฐม และ จ.สมุทรสาคร   เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม นำหมายค้นเข้าตรวจค้นสถานที่ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและการขายยาแก้ไอปลอม จำนวน 4 จุด ดังนี้


1. สถานที่ผลิต ในพื้นที่ ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา นำหมายค้นของศาลจังหวัดนครปฐม เข้าตรวจค้น ตรวจยึดและอายัดยาแก้ไอปลอม วัตถุดิบ อุปกรณ์การผลิต และบรรจุภัณฑ์

2. สถานที่กระจายผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม ภายในบริษัทขนส่งสินค้าแห่งหนึ่งในพื้นที่แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา  กทม. โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลอาญาตลิ่งชัน เข้าตรวจค้น ตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอมที่อยู่ระหว่างรอกระจายไปยังกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ จ.มุกดาหาร และ จ.หนองคาย จำนวน 44,000 ขวด

3. สถานที่ผลิตฉลากยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าตรวจค้นตรวจยึดผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม และอุปกรณ์การผลิต รวมทั้งสิ้น 3 รายการ ดังนี้ ผลิตภัณฑ์ยาก้ไอปลอม จำนวน 10,000 ขวด  ฉลากผลิตภัณฑ์ยาแก้ไอปลอม 12 ม้วน  เครื่องผลิตฉลาก 1 เครื่อง

4. สถานที่เก็บเอกสารการสั่งซื้อสารเคมีซึ่งเป็นส่วนผสมในการผลิตยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.บางน้ำจืด อ.เมืองสมุทรสาคร จ.สมุทรสาคร โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกันนำหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทรสาคร เข้าทำการตรวจค้นสถานที่ดังกล่าวจากการสืบสวนพบว่า ผู้กระทำความผิด นำส่วนผสม วัตถุดิบ และบรรจุภัณฑ์จากสถานที่ต่าง ๆมาผลิต และบรรจุในโกดังในพื้นที่ ต.ห้วยขวาง อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม โดยมีแรงงานใช้ชีวิต กิน อยู่อาศัยและนอน บริเวณไลน์การผลิตในสถานที่ดังกล่าว และจะเปลี่ยนสถานที่ในการผลิตไปเรื่อย ๆ เพื่อให้ยากแก่การตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และยังสืบสวนทราบว่า กลุ่มผู้กระทำผิดดังกล่าว เป็นผู้ที่ได้รับการว่าจ้างผลิตยาแก้ไอปลอม ให้กับเครือข่ายผู้กระทำความผิดในการผลิต และจำหน่ายยาแก้ไอปลอม ในพื้นที่ ต.ดอนไก่ดี อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้เข้าทำการตรวจค้นไปแล้ว เมื่อต้นเดือน ส.ค.567 ที่ผ่านมา แต่ยังกระทำผิดซ้ำซากโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค หวังแต่ผลประโยชน์ทางด้านธุรกิจ

เบื้องต้นการกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 1. ฐาน “ผลิตยาโดยไม่ได้รับอนุญาต” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท 2. ฐาน “ผลิต และขายยาปลอม” ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท

นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ขอเตือนประชาชนที่นิยมใช้ยาแก้แพ้ แก้ไอ นำไปผสมในสูตร 4x100 อาจได้รับอันตรายจากการบริโภคยาดังกล่าว เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน พบว่ามีการลักลอบผลิตยาน้ำแก้แพ้แก้ไอเป็นจำนวนมาก และสถานที่ผลิตนอกจากไม่ได้รับมาตรฐาน GMP แล้ว ยังไม่ถูกสุขลักษณะ ส่งผลให้ยาที่ผลิตจากสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นอาจปนเปื้อนจนก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภคได้ ทั้งนี้ ด้วยสภาพปัญหาการนำยาน้ำแก้แพ้ แก้ไอไปใช้ในทางที่ผิด อย.ได้มีมาตรการควบคุมตั้งแต่การนำเข้าสารเคมีที่นำมาใช้ผลิตยา ไปจนถึงการขายยา โดยผู้ที่จะนำเข้าสารเคมี ผู้ผลิตและขายยา ต้องได้รับอนุญาตจาก อย. นอกจากนี้ อย.ยังได้กำหนดมาตรการเข้มงวดให้ผู้รับอนุญาตต้องจัดทำรายงานการนำเข้าสารเคมี การผลิต และขายยา รายงานต่อ อย. ทุก 4 เดือน ซึ่งกรณีที่พบว่าผู้รับอนุญาตฝ่าฝืนมาตรการดังกล่าว จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมายและมีบทลงโทษตามมาตรการปกครอง สำหรับการเฝ้าระวังการลักลอบผลิตยาปลอมหรือยาไม่มีทะเบียนตำรับยานั้น ทาง อย. ได้ประสานทำงานร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคมาโดยตลอด  เมื่อตรวจพบผู้ที่ลักลอบผลิตและขายยาจะมีความผิดตามมาตรา 12 แห่งพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท สำหรับกรณีการจับกุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการผลิตโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ยังพบว่ายาที่ผลิตนั้น เจตนาปลอมยี่ห้อยาที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจาก อย. อีกด้วย จึงมีโทษตามมาตรา 72 (1) ห้ามมิให้ผู้ใดผลิตยาปลอม ระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึงตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 10,000 ถึง 50,000 บาท ซึ่งไม่ได้มีแค่โทษปรับเพียงอย่างเดียว ขอให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา เพื่อลดการนำยาไปใช้ในทางที่ผิดในชุมชนจนเป็นสาเหตุของการเสพติดยาที่รุนแรงตามมา หากผู้บริโภคพบการลักลอบผลิต นำเข้า จำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย สามารถแจ้งเบาะแสได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือผ่าน Email: 1556@fda.moph.go.th, Line: @FDAThai, Facebook: FDAThai หรือ ตู้ปณ.1556 ปณฝ. กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี 11004 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อจะได้ดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

พล.ต.ต.วิทยา ศรีประเสริฐภาพ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.4 บก.ปคบ. ได้ร่วมกับ อย. ตรวจสอบ เฝ้าระวังการผลิตและขายกลุ่มยาน้ำแก้ไอ ยาแก้แพ้ ซึ่งเป็นยาอันตรายไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ในกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มวัยรุ่นในลักษณะสารเสพติดที่เรียกว่า “4x100” เพื่อหวังผลให้เกิดอาการมึนเมา รวมถึงมีการลักลอบขายทางอินเทอร์เน็ตมาโดยตลอด ซึ่งยาเป็นปัจจัย 4 ที่ประชาชนจะใช้รักษาเยียวยาเมื่อป่วยไข้อันดับแรก และส่งผลโดยตรงกับสุขภาพของประชาชน หากรับประทานยาปลอมที่ผลิตโดยไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีตัวยาเป็นส่วนผสม อาจทำให้การรักษาไม่ได้ผล ไม่หาย และอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต ผู้ผลิตและขายยาจะต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นว่ายาที่ผลิตมาสู่ท้องตลาดมีมาตรฐาน มิ บก.ปคบ. จะดำเนินกวดขันจับกุมผู้ผลิตและขายยาปลอม รวมถึงกวาดล้างผู้ที่ผลิตและขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ถึงลที่สุด โดยประชาชนทั่วไปหากพบเห็นการกระทำความผิด สามารถแจ้งได้ที่ สายด่วน ปคบ. 1135 ปคบ.เตือนภัยผู้บริโภค