"จุรินทร์" ยึด 4 ประเด็นแก้ รธน. ต้องมีความชอบธรรม ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 มีความเป็น ปชต. มาตรฐานทางการเมืองต้องไม่ต่ำลง
เมื่อวันที่ 3 ม.ค.68 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องอุปสรรคในการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ประธานรัฐสภาจะบรรจุเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 14-15 ม.ค.ว่า เท่าที่ตรวจสอบล่าสุดมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณารวม 17 ฉบับ ซึ่งเป็นร่างของพรรคการเมืองฝ่ายค้านทั้งหมด ส่วนการลงมติต้องถือว่าเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรก็เป็นเสียงของฝ่ายรัฐบาล ซึ่งในช่วงรัฐบาลเศรษฐาก็ได้กำหนดเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญไว้เป็นนโยบายเร่งด่วน แต่พอมาถึงรัฐบาลชุดนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่ได้ระบุไว้เป็นนโยบายเร่งด่วนแล้ว ซึ่งวิปรัฐบาลก็คงจะต้องไปพิจารณากันอีกต่อไปว่าจะมีความเห็นไปในทางใด
นายจุรินทร์ กล่าวต่อว่า สำหรับความเห็นตนนั้นก็จะพิจารณาเป็นรายฉบับ ซึ่งก็จะต้องดูหลายส่วนประกอบกัน เช่น ประการแรกเรื่องความชอบด้วยรัฐธรรมนูญว่าสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้เลยหรือไม่ หากเข้าข่ายต้องมีการทำประชามติก่อนตามที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้ ก็จะต้องมีคำถามว่าสามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของสภาได้เลยหรือไม่หากยังไม่มีมีการทำประชามติ หรือประการที่ 2 จะต้องดูว่ามีการแตะหมวด 1 หมวด 2 หรือไม่ หากแตะก็ไม่เห็นชอบ ประการที่ 3 ต้องดูที่เนื้อหาว่า มีความเหมาะสมและนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยยิ่งขึ้นหรือไม่ ประการที่ 4 แก้แล้วทำให้มาตรฐานเรื่องความซื่อสัตย์สุจริตและมาตรฐานจริยธรรมหรือมาตรฐานทางการเมืองของประเทศลดต่ำลงหรือไม่ ถ้าต่ำลงก็ไม่ควรเอาด้วย ส่วนคำถามที่ว่าจะติดด่านวุฒิสภาหรือไม่นั้น ตนก็เชื่อว่าวุฒิสมาชิกจะลงมติอย่างไรก็ต้องมีเหตุผลอยู่แล้ว สำหรับเสียงของ สส.หรือพรรคการเมืองนั้นตนเห็นว่าควรจะเป็นสิทธิ์การพิจารณาของแต่ละพรรคการเมืองเพราะแต่ละพรรคอาจมีจุดยืนเรื่องรัฐธรรมนูญที่มีความแตกต่างกัน
ส่วนจะมีนักร้องเกิดขึ้นหรือไม่นั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่าตนไม่อาจคาดเดาล่วงหน้าได้ แต่ รธน.มาตรา 256(9) ก็เปิดโอกาสให้ สส.หรือ สว. หรือทั้งส.ส. ส.ว. รวมกันจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 สามารถเข้าชื่อกันเสนอต่อประธานสภาที่ตนเป็นสมาชิกเพื่อยื่นศาล รธน.วินิจฉัยความชอบด้วย รธน.ของร่างแก้ไขที่ผ่านรัฐสภาแล้วก่อนนำขึ้นทูลเกล้ฯ ได้ ส่วนร่างของพรรคประชาชนแต่ละร่างนั้นก็ยังไม่ขอวิจารณ์แต่ก็จะพิจารณาเป็นร่างๆ ไปในการตัดสินใจลงมติในวันที่ 14-15 ม.ค.