"โสภณ" ถกยกระดับคุณภาพการศึกษาลดเหลื่อมล้ำ

2024-12-13 17:18:02

"โสภณ" ถกยกระดับคุณภาพการศึกษาลดเหลื่อมล้ำ

Advertisement

"โสภณ" ถกเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน ยกระดับคุณภาพการศึกษา  ลดความเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ จ.บุรีรัมย์

เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.67 นายโสภณ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร และเครือข่ายทางการศึกษา ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยมี ดร.ภัทรวรรธน์ นิลแก้วบวรวิชญ์ ศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ นายปิยวิทย์ เชิดกลิ่น ผู้อำนวยการ สกร.ประจำจังหวัดบุรีรัมย์ นายประสิทธิ์ พิเศษ ผู้อำนวยการ สพป.บร. 4 นายศุภชัย ภาสกานนท์ รอง ผอ.สพม.บุรีรัมย์ ผู้บริหารสถานศึกษาในพื้นที่ตำบลตูมใหญ่ รวมทั้งทางภาคท้องถิ่น ได้แก่ นายชาตรี ศรีตะวัน นายกองค์การบริหารส่วนตูมใหญ่ นายบุญสังข์ ทินปราณี กำนันตำบลตูมใหญ่ นายบุญมี ดีรื่นรัมย์ ประธานสภา อบต.ตูมใหญ่ พันจ่าตรีรุ่งนาวี ภูชุม ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตูมใหญ่ และคณะ ได้ประชุมเชิงปฏิบัติการในการแก้ปัญหาการศึกษาเชิงพื้นที่ เนื่องจากปัญหาคุณภาพการศึกษาลดลง จำนวนนักเรียนลดลง มีสถานศึกษาขนาดเล็กมากขึ้น รวมทั้งปัญหาในมิติของสังคม เช่น การเป็นพลเมืองดี และปลอดยาเสพติด

นายโสภณ กล่าวว่า ทั้งนี้ได้มีการแบ่งกลุ่มย่อยในการระดมความคิดเห็นเพื่อค้นหาแนวทางในการแก้ปัญหา ได้แก่ กลุ่มด้านนโยบาย ระเบียบ การใช้ทรัพยากรร่วมกัน กลุ่มครูและผู้บริหารในการใช้ทรัพยากรที่มีในพื้นที่ และกลุ่มเอกชน ท้องถิ่นและชุมชน ในการระดมทรัพยากร จากผลสรุปได้ใช้แนวทางในการแก้ปัญหาคือ จัดตั้ง "ศูนย์รักศรัทธาตูมใหญ่ พัฒนา การศึกษาแบบบูรณาการ"โดยให้มีคณะกรรมการที่มีทุกภาคเรียนเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินการแก้ปัญหา และมีแนวทางการดำเนินงานผ่านกิจกรรม ดังนี้ 1.ให้มีครูที่มีความเชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ เดินสอน 2. มีศูนย์ออนไลน์สำหรับการเรียนรู้โดยมีการสอนออนไลน์ในเนื้อหาปกติและครูติวเตอร์ออนไลน์ บริหารโดยคณะกรรมการศูนย์ 3. การรับนักเรียนมาเรียนรวม 4.เปลี่ยนบทบาทโรงเรียนเป็น  "ศูนย์วิชาการ" ที่เป็นแหล่งเรียนนักเรียนและชุมชน 5. มีสระว่ายน้ำขนาดใหญ่ รวมทั้งมีรถรับส่ง และ 6. การสร้างขวัญกำลังใจให้กับครู บุคลากรทางการศึกษา ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม

นายโสภณ กล่าวต่อว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ยกระดับคุณภาพการศึกษาในกลุ่มโรงเรียนให้มีความเสมอภาคเท่าเทียมโดยใช้นวัตกรรมและทรัพยากรร่วมกัน ในเบื้องต้นทางภาคเอกชน โดยมูลนิธิอาณัตพณ ซารัมย์ (ลูกเติ้ง) ได้บริจาคงบประมาณจำนวน 100,000 บาทในการตั้งต้น และท้องถิ่นได้จัดสรรงบสนับสนุน 5,000,000 บาท โดยจะมีคณะกรรมการกองทุนคอยควบคุมดูแล ร่วมกับคณะกรรมการดำเนินงาน

นายโสภณ กล่าวตอนท้ายว่า การแก้ปัญหาการศึกษาในชนบทเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะปัญหาสังคมรุมเร้าอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เด็กไม่ได้อยู่กับผู้ปกครอง ขาดความอบอุ่น เกิดปัญหายาเสพติด และโรงเรียนมีอัตรากำลังไม่เพียงพอ จึงจำเป็นต้องให้ภาคประชาชนและองค์กรปกครองท้องถิ่น (อปท.) ช่วยทำงานกับข้าราชการแบบบูรณาการกันมากขึ้น เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เกิดขึ้นอยู่ในขณะนี้ได้