หอดูดาวหลายแห่งในจีนจับภาพหายาก "ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก"

2024-12-13 09:50:17

หอดูดาวหลายแห่งในจีนจับภาพหายาก "ดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลก"

Advertisement

คุนหมิง, 7 ธ.ค. (ซินหัว) — หอสังเกตการณ์หลายแห่งในจีนบันทึกภาพหายากของดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกดวงหนึ่งที่พุ่งชนโลกเอาไว้ได้ โดยดาวเคราะห์น้อยดวงนี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า 2024 เอกซ์เอ1 (2024 XA1)

สำนักข่าวไชน่าไซเอนซ์เดลี (China Science Daily) ของจีน รายงานเมื่อวันศุกร์ (6 ธ.ค.) ว่าภาพที่ถูกบันทึกไว้ได้เหล่านี้ร่วมกับผลการสังเกตดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ของหอสังเกตการณ์แห่งต่างๆ ในต่างประเทศ นับเป็นการเตือนภัยล่วงหน้าที่ประสบความสำเร็จครั้งที่ 11 ในด้านดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงพุ่งชนโลก และเป็นการคาดการณ์เกี่ยวกับกรณีเช่นนี้เป็นครั้งที่ 4 ในปี 2024

รายงานระบุว่าดาวเคราะห์น้อยดังกล่าวมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 75 เซนติเมตรถึง 1 เมตร ถูกค้นพบครั้งแรกโดยกล้องโทรทรรศน์ของมหาวิทยาลัยแอริโซนา (University of Arizona) เมื่อเวลา 5:55 น. (UTC) ของวันที่ 3 ธ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งจีนมีบทบาทสำคัญในการติดตามเหตุการณ์นี้ เนื่องจากตำแหน่งที่ตั้งทางภูมิศาสตร์เชิงกลยุทธ

จางซีเลี่ยง นักวิจัยจากหอดูดาวอวิ๋นหนานสาขาลี่เจียง สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์จีน (CAS) กล่าวว่าหอดูดาวฯ ตรวจพบดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ในช่วงระหว่าง 15.10 น. – 15.30 น. (UTC) ของวันที่ 3 ธ.ค. ผ่านกล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตร กระทั่งเวลา 16:15 น. ของวันเดียวกัน ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลกบริเวณภูมิภาคไซบีเรียตะวันออก และเกิดการลุกไหม้ส่งผลให้เกิดลูกไฟขนาดใหญ่ โดยตั้งแต่ถูกตรวจพบครั้งแรกไปจนถึงตอนตกลงสู่โลกใช้เวลารวมน้อยกว่า 12 ชั่วโมง

กล้องโทรทรรศน์ของหอสังเกตการณ์หลายแห่งในจีนต่างสามารถบันทึกภาพของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ได้ เช่น หอดูดาวจื่อจินซาน (Purple Mountain Observatory) หอดูดาวเหลิ่งหูในมณฑลชิ่งไห่ และหอดูดาวซิงหมิงในเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์

สองชั่วโมงหลังพุ่งชนโลก ศูนย์ดาวเคราะห์น้อย (Minor Planet Center) แห่งสหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ได้รับข้อมูลการสังเกตการณ์ทั้งหมด 64 ครั้งจากทั่วโลก และกำหนดชื่อให้ดาวเคราะห์น้อยดวงนี้อย่างเป็นทางการว่า 2024 เอกซ์เอ1 (2024 XA1)

จางซีเลี่ยงกล่าวว่าบรรดาดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกที่พุ่งชนโลกนั้นมีพลังทำลายล้างมหาศาล การแจ้งเตือนล่วงหน้าและการป้องกันภัยจึงมีความสำคัญยิ่งต่อสวัสดิภาพของมนุษยชาติ อย่างไรก็ตามความสามารถในการสังเกตการณ์ที่จำกัด ทำให้เรายังตรวจไม่พบดาวเคราะห์น้อยใกล้โลกส่วนใหญ่ที่กำลังพุ่งชนโลก

หอดูดาวสาขาลี่เจียงตั้งอยู่ในพื้นที่ละติจูดต่ำ ซึ่งสูงเหนือระดับน้ำทะเลมากกว่า 3,200 เมตร จึงเป็นจุดสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศจีนสำหรับการสังเกตการณ์ท้องฟ้ายามค่ำคืน จางกล่าวว่าทีมวิจัยของหอดูดาวฯ ได้จัดทำแผนการสังเกตการณ์โดยอาศัยข้อมูลคาดการณ์และลักษณะเฉพาะของดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ล่วงหน้า 6 ชั่วโมงก่อนถึงเวลาที่คาดว่าดาวเคราะห์ดวงนี้จะตกลงสู่โลก และบันทึกภาพอันล้ำค่าได้สำเร็จหนึ่งชั่วโมงก่อนที่มันจะตกสู่โลก

กล้องโทรทรรศน์เส้นผ่านศูนย์กลาง 2.4 เมตรของหอสังเกตการณ์แห่งนี้ เป็นกล้องดาราศาสตร์เชิงแสงเอนกประสงค์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกในปัจจุบัน มีความสามารถในการติดตามและสังเกตเป้าหมายที่เคลื่อนที่เร็วได้ด้วยความแม่นยำสูง

ทั้งนี้ ความสำเร็จด้านการคาดการณ์เหตุดาวเคราะห์น้อยพุ่งชนโลกนั้นเป็นผลมาจากการพัฒนาความสามารถในการติดตามและแจ้งเตือนอย่างต่อเนื่องของทั่วโลก