"ประยุทธ์" ยันผลักดันต่อร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหม หลังถอนแก้ไข 24 จุดบกพร่อง ชี้ทำสมัย สุทิน" นั่ง รมต. ก่อนส่ง พท.สานต่อ
เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.67 ที่รัฐสภา นายประยุทธ์ ศิริพานิชย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมว่า เมื่อเสนอข้อเสนอที่ประชุมสภาจำเป็นต้องอภิปรายในประเด็นของรายละเอียดของเนื้อหาร่างกฎหมายดังกล่าวแต่อยากอธิบายถึงความสับสนที่เกิดขึ้น ส่วนตัวมีปัญหาต่อสุขภาพมาตั้งแต่เดือน เม.ย. 67 ทำให้ไม่ได้ประชุมพรรคเพื่อไทย จนกระทั่งมาถึงวันที่ 8 ต.ค.ได้เดินทางมาแจ้งต่อหัวหน้าพรรค และได้รับเอกสารชุดหนึ่งมาใช้เวลาในการอ่าน 15 -20 นาที ใจความสำคัญในการแก้ไขกฎหมาย ยืนยันว่าตนไม่ได้มีความขัดข้องใจกับกองทัพที่ต้องการไปแก้ไขอะไรเพราะทหารเป็นรั้วของชาติตั้งแต่กรุงสุโขทัยมาถึงปัจจุบัน ทหารมีบทบาทในการรักษาชาติบ้านเมือง และสถาบัน ซึ่งตนก็เทิดทูนสถาบันด้วยชีวิตไม่มีเจตนาร้าย
นายประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ส่วนสาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้จะสามารถป้องกันการรัฐประหารได้หรือไม่นั้น อยากเปลี่ยนว่าประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยเป็นเหมือนบ้านหลังหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ อยู่ในบ้านหลังนั้น หากตนสร้างรั้วขึ้นมาก็ไม่ได้เสียหาย แต่ไม่สามารถป้องกันขโมยหรือโจรได้ 100% แต่หากประชาชนมาช่วยกันเป็นยามรักษาบ้านอย่างเช่นที่เกิดขึ้นในประเทศเกาหลีใต้ ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายก็จะเกิดขึ้นทันที ด้วยเจตนารมณ์เช่นนี้จึงอาศัยรัฐธรรมนูญมาตรา 133 วงเล็บ 2 เข้าชื่อเสนอกฎหมายสมบูรณ์แบบทุกประการ โดยไม่จำเป็นต้องเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของพรรค แต่ในฐานะที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทยก็ต้องนำเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมเพื่อขอเสียงสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย แต่จะทำก่อนหรือหลังการเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสภาได้ทั้งสิ้น
นายประยุทธ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่ได้เขียนร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วยตัวเอง เพียงแต่เห็นว่าเป็นกฎหมายที่ควรเสนอได้ จึงมาสอบถามว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ใครเป็นผู้จัดทำขึ้นและได้คำตอบว่ากระทรวงกลาโหมเป็นผู้จัดทำ ในสมัยของนายสุทิน คลังแสง เป็น รมว.กลาโหม และเมื่อพ้นตำแหน่งไปก็ได้ ส่งเรื่องกฎหมายฉบับนี้มายังพรรคเพื่อไทย ทางคณะกรรมการกฎหมายของพรรคจึงได้ดำเนินการต่อมีการเติมพริก เติมเกลือ เติมมะนาวบ้าง มีความผิดเพี้ยนจากร่างกระทรวงกลาโหมไปบ้างเล็กน้อย แต่ไม่ผิดวิสัยของการเขียนกฎหมาย เป็นสิ่งที่ทำกันทั่วโลกในการปกครองระบอบประชาธิปไตย หลังจากได้รับร่างกฎหมายแล้วพบว่ามีจุดบกพร่องมี 24 จุดที่ต้องแก้ไข ซึ่งตามข้อบังคับการประชุมหากจะมีการแก้ไขร่างกฎหมายเพิ่มเติมเล็กน้อยตนสามารถทำได้เลย จึงเตรียมยื่นขอถอนร่างพ.ร.บ.จัดระเบียบกลาโหมมาแก้ไข ซึ่งจะใช้เวลาเพียง 1 วัน และเสนอกลับเข้าสภาอีกครั้ง และจะต้องทำความคิดเห็นของสาธารณะตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้