เตือนระวังเด็กจมน้ำตาย

2018-04-25 11:40:51

เตือนระวังเด็กจมน้ำตาย

Advertisement

กรมควบคุมโรคห่วงเด็กจมน้ำช่วงปิดเทอม เผยปีนี้เสียชีวิตแล้ว 42 ราย เตือนอย่าปล่อยให้เล่นน้ำตามลำพัง แม้สระน้ำพลาสติกเป่าลม

เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า การจมน้ำเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็กไทยเสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่งมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วงหน้าร้อนและปิดเทอมใหญ่ 3 เดือน คือ มี.ค.- พ.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่มีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุดเช่นกัน จากข้อมูลปี 2560 ที่ผ่านมา พบเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต 708 ราย โดยเป็นการจมน้ำเสียชีวิตในช่วงปิดเทอมใหญ่ถึง 254 ราย หรือร้อยละ 35.9 และเด็กที่จมน้ำส่วนใหญ่เป็นเด็กอายุ 5-9 ปี ร้อยละ 48.4 สาเหตุการจมน้ำในช่วงปิดเทอมใหญ่เนื่องจากเด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง ส่วนอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำสูงสุด คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือ ภาคใต้ ส่วนในปี 2561 นี้ จากข้อมูลการเฝ้าระวังในเบื้องต้นของกรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.–10 เม.ย. 2561 พบเด็กจมน้ำเสียชีวิต 42 ราย จำนวนผู้เสียชีวิตเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้น ซึ่งต่ำกว่าความเป็นจริงประมาณ 4-5 เท่า ในจำนวนนี้พบผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุ 10-14 ปีมากที่สุด ร้อยละ 47.6 รองลงมาคือ 5-9 ปี ร้อยละ 28.6 เฉพาะในช่วงปิดเทอมใหญ่ ตั้งแต่เดือนมี.ค.ปัจจุบัน ข้อมูลเบื้องต้นพบเด็กจมน้ำเสียชีวิตแล้ว 29 ราย



นพ.สุวรรณชัย กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรค ขอเตือนผู้ปกครองว่าในช่วงปิดเทอมใหญ่นี้ให้ดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้ชวนกันไปเล่นน้ำกันเอง โดยเฉพาะในแหล่งน้ำธรรมชาติที่ห่างไกลจากผู้ใหญ่คอยดูแล อีกข้อควรระวังคือช่วงนี้อากาศร้อน ผู้ปกครองจึงมักซื้อสระน้ำพลาสติกเป่าลมใส่น้ำให้เด็กๆเล่นในบริเวณบ้าน และอาจชะล่าใจเห็นว่าเป็นน้ำตื้น ปล่อยให้เด็กเล่นตามลำพัง อาจทำให้เด็กจมน้ำเสียชีวิตได้เช่นกัน กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำการใช้สระน้ำพลาสติกเป่าลม ดังนี้ 1.เลือกขนาดของสระน้ำเป่าลมให้เหมาะกับผู้ที่ใช้งาน เช่น ถ้าเป็นเด็กเล็กๆ ควรเลือกสระที่มีความสูงไม่มาก เพื่อป้องกันการจมน้ำ โดยเลือกสระน้ำในระดับที่เด็กนั่งแล้ว ไม่จมน้ำหรือระดับอยู่ประมาณท้องของเด็กเมื่อนั่ง 2.กรณีเลิกใช้งานแล้ว ควรปล่อยน้ำออกจากสระให้หมด เพื่อป้องกันการแอบไปเล่นของเด็กๆ 3.ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำในสระน้ำพลาสติกตามลำพัง เพราะอาจเกิดการจมน้ำได้




อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวอีกว่า ขอฝากถึงประชาชนหากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการใช้มาตรการ“ตะโกน โยน ยื่น” ได้แก่ 1.ตะโกน คือการเรียกให้ผู้ใหญ่มาช่วยและโทรแจ้งทีมแพทย์ กู้ชีพ 1669 2.โยนอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเพื่อช่วยคนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว เช่น ถังแกลลอนพลาสติกเปล่า หรือวัสดุที่ลอยน้ำได้โดยโยนครั้งละหลายๆ ชิ้น และ 3.ยื่นอุปกรณ์ที่อยู่ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับ เช่น ไม้ เสื้อ ผ้าขาวม้า ให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นมาจากน้ำ