หนานจิง, 11 ธ.ค. (ซินหัว) — คณะนักวิจัยของจีนออกแบบแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อรักษาความคงที่ของสัญญาณการสื่อสารบนรถไฟความเร็วสูงพิเศษในอนาคต ซึ่งหากวิ่งด้วยความเร็ว 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงแล้วจะเผชิญปรากฏการณ์ดอปเพลอร์ (Doppler effect) ที่ทำให้ช่องการสื่อสารเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจนกระทบการสื่อสารบนรถไฟ
รายงานระบุว่าคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยตงหนาน บริษัท หนานจิง ทีคอม เทคโนโลยี จำกัด และบริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการบินและอวกาศแห่งชาติจีน (CASC) ได้ร่วมพัฒนาวิธีการเฉพาะเพื่อประเมินช่องการสื่อสารในย่านความถี่ 700 เมกะเฮิรตซ์
คณะนักวิจัยได้เสนอการวางสายเคเบิลคู่ขนานพิเศษบนผนังอุโมงค์ จำนวน 2 เส้น ซึ่งจะคอยส่งสัญญาณแม่เหล็กไฟฟ้าที่ช่วยให้เกิดการเชื่อมต่อที่ต่อเนื่องและคงที่ระหว่างสมาร์ตโฟนกับเครือข่ายโทรคมนาคม โดยการใช้เทคนิคประเมินช่องการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพมาติดตามตัวชี้วัดสัญญาณหลักยังลดผลกระทบจากการเปลี่ยนย่านความถี่เคลื่อนที่ความเร็วสูงด้วย
ขณะการจำลองด้วยคอมพิวเตอร์เบื้องต้นยืนยันว่าแนวทางแก้ไขปัญหานี้สามารถรักษาคุณภาพการสื่อสารที่คงที่สำหรับการถ่ายโอนข้อมูลภายใต้มาตรฐาน 5G
ทั้งนี้ จีนเสร็จสิ้นการทดสอบระบบขนส่งแม็กเลฟความเร็วสูงพิเศษ (UHS) ระยะสาธิตในปี 2024 โดยระบบดังกล่าวบูรณาการเทคโนโลยีการบินและอวกาศเข้ากับเทคโนโลยีการขนส่งทางรางภาคพื้นดิน มีเป้าหมายสร้างรถไฟที่วิ่งด้วยความเร็ว 1,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมง